ดนตรีแนวพั้งค์ วิถีขบถ
เสียงแตกของกีต้าร์ดิสทรอชั่นและการร้องที่ดุดันสื่อถึงความคับข้องใจในบทเพลง นรกคนจน ผลงานของ Drunk all day วงพั้งค์อันเดอร์กราวน์ไทย ที่ถูกเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ คือสิ่งที่แสดงถึงตัวตนดนตรีและแนวคิดหลักของวัฒนธรรม พั้งค์ และ อนาธิปไตย ที่สัญลักษณ์คือ ตัว A ของคำว่า Anarchits ที่หมายถึงต่อต้านความล้มเหลวของระบบสังคมยุคใหม่ แม้เพลงพั้งค์ไทยแทบไม่มีที่ยืนในตลาดบนดินแต่ 10 ปีมานี้แฟนเพลงและวงดนตรีพั้งค์อันเดอร์กราวว์รุ่นใหม่ก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นไม่น้อยและยังคงรวมตัวกันในย่านอย่างตลาดนัดสวนจตุจักร ที่ถือว่าเป็นศูนย์รวมของคนที่มีอุดมการทางดนตรีและสังคมเดียวกัน
นโยบายและสภาพสังคมที่กดดันในยุค 70 คือสิ่งที่ทำให้วัยรุ่นในอังกฤษ ออกมาต่อต้านนโยบายรัฐบาลหญิงเหล็ก มากาเร็ต แธทเชอร์ โดยใช้วัฒนธรรมพั้งค์เป็นสื่อจากการนำของวงอย่าง เซ็กส์พิสทอล แม้ 40 กว่าปีที่ีผ่านมาจะมีคนเชื่อว่าแนวคิดและดนตรีพั้งค์ เหลือเพียงแฟชั่นเพราะไม่สามารถเป็นจริงได้ในสังคมยุคใหม่ หากในหลายประเทศที่มีความกดดันทางสังคมและการเมือง หรือความไม่เป็นธรรม ก็ปลุกให้พั้งค์ยังคงอยู่ไม่ว่าจะในอินโดนีเซีย ที่พั้งค์กลายเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมกระแสหลักของวัยรุ่น หรือ ในเมียนมา ซึ่งวงดนตรีพั้งค์เติบโตเพื่อวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐ
ท่วงทำนองของดนตรีที่ไม่ประดิษฐ์ประดอย หากสื่อเนื้อหาวิพากษ์สังคมอย่างตรงไปตรงมา คือสิ่งหนึ่งที่ทำให้เพลงพั้งค์ยังคงโดนใจวัยรุ่น แม้ส่วนหนึ่งยอมรับว่าทำตามเพราะเป็นแฟชั่น หากจำนวนไม่น้อยถือว่าพวกเขาเป็นผู้ถูกกระทำจากปัญหาสังคมยุคใหม่ บทเพลงแห่งวัยรุ่นหัวขบถจึงไม่เคยเงียบหายไปยังคงดำรงค์อยู่แม้จะเป็นในมุมมืดที่ไม่มีใครได้ยิน