ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สารคดีพิเศษ 800 ปี แมกนา คาร์ตา 83 ปี ประชาธิปไตยไทย (ตอน 14) : รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 8

การเมือง
3 มิ.ย. 58
08:58
228
Logo Thai PBS
สารคดีพิเศษ 800 ปี แมกนา คาร์ตา 83 ปี ประชาธิปไตยไทย (ตอน 14) : รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 8

วันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ.1215 เป็นวันที่กษัตริย์จอห์นแห่งอังกฤษลงนามในเอกสารที่เป็นข้อตกลงระหว่างบรรดาขุนนางกับพระองค์ เอกสารฉบับนี้มีชื่อว่า "แมกนา คาร์ตา" ซึ่งแปลว่ามหากฎบัตร หรือ The Great Charter ซึ่งต่อมาได้รับการยกย่องจากนักประวัติศาสตร์และนักวิชาการจำนวนมากว่าเป็นต้นกำเนิดแห่งรัฐธรรมนูญในยุคปัจจุบัน ขณะที่ประเทศไทยอยู่ระหว่างการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ไทยพีบีเอส โดยการสนับสนุนของบีบีซีแผนกภาษาไทย นำเสนอเรื่องราวของแมกนา คาร์ตาและรัฐธรรมนูญไทยในอดีต ผ่านสารคดีขนาดสั้นรวม 25 ตอน ตอนที่ 14 เสนอเรื่อง "รัฐธรรมนูญไทย ฉบับที่ 8 : รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 คือ รัฐธรรมนูญฉบับที่ 8 ของประเทศไทย

รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากสภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งใช้เวลาร่างนานที่สุดถึง 9 ปี  และร่างขึ้นในช่วงที่ประเทศไทยปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการเบ็ดเสร็จของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

เนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ยืนยันการปกครองแบบรัฐสภา 2 สภา คือ สภาผู้แทน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงแบบรวมเขตจังหวัด อยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี และวุฒิสภา มาจากการแต่งตั้ง อยู่ในตำแหน่งคราวละ 6 ปี โดยรัฐธรรมนูญให้อำนาจวุฒิสภาเสนอกฎหมาย เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีได้ ทั้งรายบุคคลหรือทั้งคณะก็ได้

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ อนุญาตให้สมาชิกวุฒิสภาและรัฐมนตรีเป็นข้าราชการประจำได้ ส่วนสมาชิกสภาผู้แทน ห้ามข้าราชการประจำมารับตำแหน่ง

เมื่อวุฒิสภามีอำนาจมากกว่าสภาผู้แทน อีกทั้งข้าราชการประจำยังมารับตำแหน่งได้ หมายความว่าทิศทางของการเมืองจะยังคงเป็นไปตามการกำหนดของกลุ่มข้าราชการได้อยู่ดี

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังเปิดโอกาสให้มีการจัดตั้งพรรคการเมือง โดยพรรคการเมืองแรกที่จดทะเบียนก่อตั้งตามรัฐธรรมนูญนี้ คือ พรรคสหประชาไทย ของจอมพลถนอม กิตติขจร นั่นเอง

แน่นอนว่าเมื่อมีการเลือกตั้ง พรรคของจอมพลถนอมก็ได้รับเสียงข้างมากมาจัดตั้งรัฐบาล หลังเลือกตั้ง บรรดา ส.ส.ในพรรคนั้นเรียกร้องผลประโยชน์ ที่นายกฯ เคยเสนอไว้ก่อนหน้านั้นจนทำให้ไม่สามารถควบคุมสภาได้อีกต่อไป

จอมพลถนอม ในฐานะนายกรัฐมนตรีจึงก่อการรัฐประหารตัวเอง นับเป็นการรัฐประหารครั้งที่ 8  และรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 8 คือ "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511" ก็ถูกยกเลิกในที่สุด รวมระยะเวลาประกาศใช้ เพียง 3 ปี 4 เดือน 27 วันเท่านั้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง