จากบาดแผลอาณานิคม สู่วรรณกรรมภารตะสมัยใหม่
การเข้าสู่รอบแจ็คพ็อตรายการควิซโชว์ได้อย่างน่าเหลือเชื่อของ จามาล เด็กหนุ่มชงชาจากสลัมมุมใบ ทั้งที่ไม่มีความรู้ติดตัว ท่ามกลางความสงสัยว่าเขาอาจโกงคำตอบ นี่คือเนื้อหาของภาพยนตร์ 8 รางวัลออสการ์ในปี 2009 อย่าง Slumdog Millionaire สร้างจากงานเขียนเล่มแรก ของ วิกาส สวารุป นักเขียนนักการฑูต ที่ใช้มุมมองส่วนตัว สะท้อนภาพสังคมอันซับซ้อนด้วยระบบวรรณะและความเชื่อที่หลากหลายของอินเดีย รวมถึงให้ภาพบาดแผลในสังคมที่ยังหลงเหลือจากยุคล่าอาณานิคมของอังกฤษ ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกันกับที่ วิกาส นำมาสานต่อเป็นนิยายอีกสองเล่มคือ The six suspects ที่เล่าถึงการสืบสวนผู้ต้องสงสัย 6 คน ที่มีที่มาต่างกันในคดีฆาตรกรรม หรือ 7 บททดสอบของหญิงสาวเพื่อก้าวสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจใหญ่ใน The Accidental Apprentice
การสลับตัวของเด็กชายสองคนในคืนการประกาศอิสรภาพของอินเดียจากอังกฤษ ใน Midnight Children ภาพยนตร์ที่สร้างจากหนังสือในชื่อเดียวกันของ Salman Rushdie ในปี 1981 นับเป็นต้นแบบความสำเร็จของวรรณกรรมร่วมสมัยอินเดียที่มีเนื้อหาวิจารณ์สังคม โดยมีรางวัลบุ๊คเกอร์ไพรซ์การันตี เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้งานเขียนจากอินเดียแพร่หลายในวงวรรณกรรมโลก ทั้งยังถูกใช้สอนในชั้นเรียนวรรณกรรมต่างประเทศในหลายมหาวิทยาลัย
การฉีกกฎภาษา ด้วยถ้อยคำที่เยิ่นเย้อ ในงานชิ้นเอก The god of small things ของอรุณธตี รอย นักเขียนและนักเคลื่อนไหวทางสังคมชาวอินเดีย ไม่เพียงวิพากษ์สังคมอินเดียผ่านเนื้อหาความรักข้ามวรรณะของตัวละคร หากภาษาที่ใช้ยังเป็นการเสียดสีเจ้าอาณานิคม ซึ่งใช้เหลื่อมล้ำทางการศึกษา ย้ำความแตกแยกในสังคมวรรณะของอินเดีย วรรณกรรมร่วมสมัยแดนภารตะ จึงไม่เพียงสะท้อนภาพการโหยหาอดีต หรือติดอยู่ในโลกปัจจุบัน หากยังแฝงประเด็นสากลอย่างการเรียกร้องความเท่าเทียมอีกด้วย
นอกจากเรียนการสอนแล้ว ประเทศไทยยังมีการจัดงานเกี่ยวกับวรรณกรรมอินเดียขึ้นบ่อยครั้งในช่วงหลายปีมานี้ อย่างเทศกาลอินเดียในประเทศไทย ที่จำลองรูปแบบมาจากเทศกาลหนังสืองานใหญ่ชัยปุระเฟสติวัลที่อินเดีย เปิดโลกวรรณกรรมแขนงอื่นๆ ทั้งวรรณกรรมเยาวชน ประเด็นจิตวิญญาณและเพศสภาพ เพื่อเรียนรู้สังคมอินเดีย ประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับสองของโลก