แนวทางการจัดเก็บค่าขยะของ กทม.
ชาวชุมชน 320 เขตหลักสี่ นำขยะมาทิ้งไว้ที่ถังขยะหน้าบ้าน เพื่อรอให้เจ้าหน้าที่มาจัดเก็บต่อไป ส่วนขยะรีไซเคิล นางอำนวย หงษ์ทอง เล่าว่า จะคัดแยกเพื่อนำไปขายโดยในแต่ละเดือนเธอและชาวชุมชนแห่งนี้ ต้องเสียค่าจัดเก็บขยะให้สำนักงานเขต 20 บาทต่อเดือนหรือประมาณ 240 บาทต่อปี แต่หากจะมีการปรับขึ้นค่าจัดเก็บขยะเพิ่ม เธอเห็นว่าควรอยู่ในราคาที่เหมาะสม ที่ชาวชุมชนสามารถแบกรับได้
คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงว่าด้วยสุขลักษณะการจัดการขยะมูลฝอยทั่วไป และร่างกฎกระทรวงว่าด้วยอัตราค่าธรรมเนียมในการให้บริการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย เมื่อวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อให้ทุกเทศบาลนำไปใช้ในแนวทางเดียวกัน ซึ่งร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่นี้ กำหนดอัตราเพดานค่าขนขยะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถจัดเก็บได้ไม่เกิน 65 บาทต่อเดือน จากเดิมที่กำหนดไว้ราคา 40 บาทต่อเดือน ส่วนค่ากำจัดขยะกำหนดไว้ไม่เกิน 155 บาท แต่ทั้งหมดต้องมีปริมาณขยะไม่เกิน 20 ลิตร หรือไม่เกิน 4 กิโลกรัมต่อวัน
สุวพร เจิมรังษี ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในทางปฏิบัติ กทม.สามารถออกข้อบัญญัติท้องถิ่นกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมเก็บขนและค่าธรรมเนียมกำจัดขยะที่ต่ำกว่าที่ระบุไว้ในกฎกระทรวงได้
ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กล่าวเสิรมว่า กทม. มีครัวเรือนตามทะเบียนราษฎรประมาณ 2.1 ล้านครัวเรือน แต่สามารถจัดเก็บธรรมเนียมจัดเก็บขยะได้เพียง 1.9 ล้านครัวเรือน เป็นเงินปีละ 450 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าค่าดำเนินการจัดเก็บขยะและนำไปกำจัด ซึ่งกทม.ต้องใช้งบประมาณมากถึงปีละกว่า 6 พันล้านบาท
สุจิตรา วาสนาดำรงดี นักวิจัยสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า เพดานอัตราค่าธรรมเนียมการจัดเก็บขยะที่ปรับใหม่ตามกฎกระทรวง คำนวณจากต้นทุนการเก็บขนและการกำจัดขยะที่เกิดขึ้นจริงในระบบฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล และสามารถบังคับใช้ไม่น้อยกว่า 10 ปี จึงดูเหมือนปรับขึ้นค่อนข้างสูง แต่เชื่อว่า ผู้บริหารระดับท้องถิ่นส่วนใหญ่ อาจไม่กล้าปรับขึ้นอย่างก้าวกระโดด
การปรับเพดานจัดเก็บขยะเป็นเรื่องที่ดีแต่ไม่ได้ช่วยลดปริมาณขยะภายครัวเรือนให้ลดลง นักวิจัยสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จึงเสนอว่า การบริหารจัดการขยะที่ดี ควรเริ่มตั้งแต่ต้นทาง โดยส่งเสริมให้ประชาชนคัดแยกขยะ และจัดเก็บค่าธรรมเนียมขยะตามปริมาณขยะที่เก็บได้ในแต่ละครัวเรือนเหมือนในต่างประเทศ