กกร. ไม่เห็นด้วยขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศทันที
คณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน หรือ กกร. ยืนยันไม่เห็นด้วยหากมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศทันที เพราะจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การจ้างงาน และทำให้สินค้าขึ้นราคาไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10
ที่ประชุมคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน หรือ กกร. นัดพิเศษ เกี่ยวกับนโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาททั่วประเทศ มีมติไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นทันทีเพราะเกรงเกิดผลกระทบเศรษฐกิจ, อัตราการจ้างงาน และภาคประชาชน ที่จะต้องแบกรับกับราคาสินค้าที่สูงขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 จากต้นทุนที่ปรับเพิ่ม โดยภาคเอกชนพร้อมหารือกับภาครัฐเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
ด้าน นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวยืนยันว่า การปรับค่าจ้างควรเป็นไปตามกลไลตลาดโดยการพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคี ที่ปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง แต่หากขึ้นค่าจ้างจริง รัฐบาลควรมีแนวทางจ่ายส่วนต่างของค่าจ้างเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ
ขณะที่นายดุสิต นนทะนาครประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวแสดงความกังวลว่าในระยะสั้น ธุรกิจกว่าร้อยละ90 ไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนได้ ขณะเดียวกันทำให้ค่าจ้างแรงงานไทยอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ไทยต้องสูญเสียความสามารถในการดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศ
ส่วนนายธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ต้องการความชัดเจนจากภาครัฐว่าการขึ้นค่าแรงจะมีขอบเขตและขั้นตอนอย่างไร รวมถึงมาตรการส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตอย่างเป็นรูปธรรมและมาตรการเยียวยา หากธุรกิจต้องลดการจ้างงานหรือเลิกกิจการ