ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ศาลเยอรมันให้ฝ่ายไทย-บริษัทเอกชนยื่นหลักฐานเพิ่ม ก่อนนัดตัดสินคดียึดเครื่องบิน

ต่างประเทศ
20 ก.ค. 54
07:53
60
Logo Thai PBS
ศาลเยอรมันให้ฝ่ายไทย-บริษัทเอกชนยื่นหลักฐานเพิ่ม ก่อนนัดตัดสินคดียึดเครื่องบิน

ศาลเยอรมนียังเปิดโอกาสให้ฝ่ายไทย และ บริษัทที่เป็นข้อพิพาทให้หลักฐานอ้างอิงกรณีการอายัดเครื่องบินโบอิ้ง 737 ก่อนที่จะนัดตัดสินคดีอีกครั้ง โดยฝ่ายไทยได้ยื่นคำร้องขอถอนอายัดพร้อมด้วยหลักฐานที่ยืนยันว่า เครื่องบินลำดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินของรัฐบาล

จากกรณีศาลเยอรมนีสั่งอายัดเครื่องบินโบอิ้ง737 ที่จอดอยู่ที่นครมิวนิค เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม หลังมีข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลไทยกับบริษัทวอลเตอร์ เบา ของเยอรมนี เกี่ยวกับสัมปทานการก่อสร้างทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์เมื่อปี 2543

นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เดินทางไปติดตามความคืบหน้ากรณีนี้ที่นครมิวนิก ประเทศเยอรมนีตั้งแต่เมื่อวานนี้ หลังคาดว่าศาลจะตัดสินคดีการอายัดเครื่องบินภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งนายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศ ในฐานะโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ศาลเยอรมนียังไม่ได้นัดวันพิจารณาคดี หลังได้เลื่อนพิจารณามาจากสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากศาลขอฟังข้อมูลเพิ่มจากสองฝ่าย

 ขณะที่นายคริสตอฟ เฟลเนอร์ รองประธานศาล ซึ่งพิจารณาคดีนี้ ระบุว่า ศาลจะยังไม่มีคำตัดสินออกมาจนกว่าจะถึงวันพรุ่งนี้โดยได้ให้โอกาสทั้งสองฝ่ายส่งมอบหลักฐานให้เสร็จสิ้นภายในวันนี้ตามเวลาของประเทศเยอรมนี

ด้านนายสมชาย จันทร์รอด อธิบดีกรมการบินพลเรือน เปิดเผยว่า ได้จัดส่งเอกสารสำคัญที่แสดงว่าเครื่องบินโบอิ้ง 737 เป็นเครื่องบินส่วนพระองค์โดยเอกสารทั้งหมดอยู่ภายใต้อนุสัญญาชิคาโก ที่ทุกประเทศต้องยอมรับในรูปแบบร่วมกัน และทุกสายการบินต้องเคารพภายใต้ข้อปฏิบัติเดียวกัน

ก่อนหน้านี้บริษัทวอลเตอร์ บาวน์ ขออำนาจศาลสั่งอายัดเครื่องบินดังกล่าว เพราะเอกสารลงทะเบียนด้านการบิน ระบุว่า เป็นทรัพย์สินของรัฐบาลไทย อีกทั้งศาลเยอรมนี ได้ตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องแล้ว และเห็นว่าเป็นเอกสารถูกต้อง ทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลชดใช้ค่าเสียหายให้กับบริษัทด้วย

 ขณะที่ทางการไทยยืนยันว่า เป็นเครื่องบินส่วนพระองค์ไม่ใช่ของรัฐบาล โดยกองทัพอากาศทำหนังสือทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นเครื่องพระราชทานพาหนะใช้ในภารกิจตามพระราชอัธยาศัย เมื่อปี 2550 โดยสิทธิการครอบครองย่อมมีสถานะเป็นเครื่องบินส่วนพระองค์ ไม่ใช่ของกองทัพอากาศ หรือของรัฐบาลแต่อย่างใด
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง