สารคดีพิเศษ 800 ปี แมกนา คาร์ตา 83 ปี ประชาธิปไตยไทย (ตอน 18) : รัฐธรรมนูญไทย ฉบับที่ 12
ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520 คือ รัฐธรรมนูญฉบับที่ 12 ของไทย ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดจากรัฐประหารที่ยึดอำนาจจากนายธานินทร์ กรัยวิเชียร
คณะปฏิวัติอ้างว่าการยึดอำนาจนั้นทำไปเพื่อให้การต้านภัยคอมมิวนิสต์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และการปฏิรูปการเมืองตามแผนที่มีระยะเวลา 12 ปี ของรัฐธรรมนูญฉบับเดิมนั้นช้าเกินไป การรัฐประหารตัวเองครั้งนี้จึงเป็นการรวบอำนาจการปกครองให้อยู่ในมือผู้นำมากยิ่งขึ้น
คณะปฏิวัติได้ประกาศใช้ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2520 ซึ่งมีบทบัญญัติ 32 มาตรา โดยรวมแล้วแทบไม่ต่างจากฉบับเดิม แต่มีข้อสังเกตที่น่าสนใจคือการเปลี่ยนชื่อตัวเองจาก "คณะปฏิวัติ" เป็น "สภานโยบายแห่งชาติ" บัญญัติให้นายกรัฐมนตรีสามารถใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จ ส่วนสมาชิกสภานโยบายแห่งชาติก็ล้วนเป็นคนกลุ่มเดิมที่มีอำนาจเหนือคณะรัฐมนตรี
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นสภาเดียวที่ระบุไว้ให้มีในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยที่ สนช.ไม่มีสิทธิ์ตั้งกระทู้ถามหรือเสนอกฎหมายใดๆ ได้
ส่วนข้าราชการก็ยังเล่นการเมืองได้แต่จะดำรงตำแหน่งซ้ำซ้อนกัน (ระหว่างนายกฯ และรัฐมนตรี) ไม่ได้
สุดท้ายปลายปี พ.ศ.2521 รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ประกาศใช้แทนและรัฐบาลได้จัดการเลือกตั้งในเวลาต่อมา
รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 12 คือ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520 มีระยะเวลาประกาศใช้เพียง 1 ปี 1 เดือน กับอีก 13 วัน