วันนี้ (17 ก.พ.2559) นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวได้ เนื่องจากอยู่ในกระบวนการ โดยจะเรียกประชุมคณะกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าวเพื่อปิดบัญชีรอบสุดท้ายภายในสิ้นเดือน ก.พ.นี้
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังแจ้งว่า การตรวจสอบความเสียหายจะใช้ฐานข้อมูลการปิดบัญชีรอบปี 2547 โดยมีผลขาดทุนจำนวน 700,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 11 โครงการก่อนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จำนวนกว่า 160,000 ล้านบาท และ 4 โครงการในรัฐบาลยิ่งลักษณ์กว่า 530,000 ล้านบาท และเพิ่มข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ ที่เปิดประมูลข้าวในสต็อกมาแล้วทั้งหมด 12 ครั้ง ระบายข้าวรวม 4.87 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 5.25 หมื่นล้านบาท ดังนั้น การคำนวณความเสียหายมีแนวโน้มสูงขึ้นจากการที่ข้าวที่ระบายออกได้ราคาไม่สูงนัก เพราะส่วนใหญ่ข้าวเสื่อมค่าลง และเมื่อเทียบกับดอกเบี้่ยที่ต้องจ่าย และค่าเก็บรักษาที่เพิ่มขึ้น ทำให้แนวโน้มผลการขาดทุนจะสูงกว่ารอบปี 2557
สอดคล้องกับนักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) รศ.นิพนธ์ พัวพงศกร ที่ระบุว่าโครงการรับจำนำข้าว ใช้เงินกว่า 980,000 ล้านบาท มีผลขาดทุนสูงถึง 600,000 ล้านบาท แต่ความล่าช้าที่เกิดขึ้นของการปิดบัญชี จะยิ่งทำให้ความเสียหายทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะประธานกรรมการพิจารณารับผิดทางแพ่ง กล่าวว่า การพิจารณาเรียกค่าเสียหายจากผู้ที่กระทำผิดในโครงการรับจำนำข้าวของคณะกรรมการฯ จะพิจารณากับเจ้าหน้าที่ของรัฐ 6 คน เท่านั้น โดยคาดว่าจะสรุปได้ในเดือน มี.ค.นี้ ว่าแต่ละคนต้องรับผิดชอบความเสียหายใช้คืนให้กับรัฐเท่าไหร่ ส่วนการเรียกค่าเสียหายจากนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้ชดใช้ความเสียหายจากการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) วงเงิน 20,000 ล้านบาท เป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ จะต้องแจ้งต่ออัยการให้ฟ้องเรียกค่าเสียหาย