การเดินทางไปยังดาวดวงอื่นเพื่อพิสูจน์การมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตนอกโลก ผ่านรูหนอนหรือการย่นระยะทางในอวกาศ ในภาพยนตร์ Contact ที่สร้างจากนิยายดังในชื่อเดียวกันของ คาร์ล เซแกน นักดาราศาสตร์และนักเขียนิยายวิทยาศาสตร์ เจ้าของรางวัลพูลิเซอร์ไพร์ซ คือพล็อตยอดนิยมในนิยายไซไฟที่ใช้ข้อสันนิษฐานเรื่องปรากฎการณ์ธรรมชาติ ที่อาจเชื่อมโลกกับจักรวาลอันไกลโพ้นและการทับซ้อนของมิติ ที่ยังปรากฎเป็นสีสันในนิยายประเภทอื่น
นิยายรักแนวย้อนยุคของไทย อย่าง เรือนมยุรา ผลงานของแก้วเก้า หรือ ว.วินิจฉัยกุล เมื่อตัวเอกติดอยู่ในยุคสมัยกรุงศรีอยุธยาเพราะมนตร์คาถาก่อนจะพบว่าโลกความจริงผ่านไปกว่า 200ปีแล้ว หากในมุมของวิทยาศาสตร์นี่อาจไม่ใช่จินตนาการที่เลื่อนลอย เพราะมีส่วนสอดคล้องกับทฤษฎีสัมพัทธภาพที่ไอสไตน์ค้นคว้าไว้เมื่อ 100 ปีก่อน
"อินเตอร์สเตลล่า" เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่หลายคนดูแล้วต้องกลับมาเปิดทฤษฎีวิทยาศาสตร์ซึ่งหนึ่งในผู้เขียนบทและเป็นที่ปรึกษาคือ คิป ธอร์น ได้เขียนหนังสือขึ้นเพื่ออธิบายเรื่องราวที่เกิดขึ้น ซึ่งหนึ่งหนึ่งในนั้นคือทฤษฎีความโน้มถ่วงที่เพิ่งเป็นข่าวใหญ่ในวงการวิทยาศาสตร์ ละอองฝุ่นที่กระจายตัวเป็นรหัสมอร์สเพื่อส่งข้อความจากต่างมิติ คือผลจากคลื่นความโน้มถ่วงในจินตนาการของภาพยนตร์อินเตอร์สเตลล่า ที่คิป ธอร์น นักฟิสิกส์ผู้ปฎิบัติงานในโครงการหอสังเกตการณ์คลื่นความโน้มถ่วง หรือ LIGO นำมาใช้ริเริ่มเขียนบทภาพยตร์เรื่องนี้ ซึ่งปูพื้นให้การค้นพบคลื่นความโน้มถ่วง เป็นจุดเริ่มต้นของวิทยาการใหม่ ที่ช่วยไขความลับของจักรวาลได้
แม้หลายครั้งการนำทฤษฎีวิทยาศาสตร์มาต่อยอดเป็นนิยาย อาจกลายเป็นจุดขายเพราะความสมจริงหากหลายครั้งที่ความคิดก่อนกาล ส่งให้เกิดงานต้นแบบขึ้นแท่นนิยายอมตะอย่าง The time machine ของ H.G.Wells ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 1895 ก่อนที่ทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอนสไตน์จะเกิดขึ้นในปี 1916 จินตนาการในนิยายที่ให้ความหมายถึงการคาดคะเนทางวิทยาศาสตร์อาจนำมาสู่การตั้งสมมติฐาน เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆให้กับโลกใบนี้