นายซาลิล เช็ตตี้ เลขาธิการใหญ่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยว่า สถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกในปัจจุบันอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากรัฐบาลของหลายประเทศเน้นดำเนินมาตรการเพื่อรักษาผลประโยชน์และความมั่นคงของรัฐในระยะสั้น ซึ่งนำไปสู่การเพิกเฉยต่อสิทธิและเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน
นอกจากนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยังประณามการรับมือวิกฤตผู้อพยพของประเทศยุโรป ที่ปิดพรมแดนเพื่อผลักดันไม่ให้ผู้อพยพและผู้ลี้ภัยสงครามเดินทางเข้าประเทศเมื่อปี 2558 และเรียกร้องให้มีการเปิดเส้นทางให้ผู้อพยพเดินทางเข้าสู่ยุโรปอย่างปลอดภัยและถูกต้องตามกฎหมาย
นายชำนาญ จันทร์เรือง ประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ระบุว่า สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยระหว่างปี 2558-2559 เปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลงกว่าปีก่อน โดยมีปัจจัยสำคัญคือการดำเนินมาตรการต่างๆของรัฐบาล
"รัฐบาลพยายามที่จะมองความมั่นคงทางการเมืองเป็นหลัก พยายามควบคุมให้อยู่ในร่องในรอย ซึ่งเรามองว่าสิทธิพื้นฐานบางอย่างมันควรจะมีอยู่ สิทธิในการแสดงออก สิทธิในการชุมนุม สิทธิในการขีดเขียน พวกนี้มันต้องมี หรือบางอย่างกฎหมายมันก็ขัดกันเอง อย่างคำสั่ง คสช.ก็ดี หรือกฎหมายชุมนุมสาธารณะ มันไม่รู้จะใช้ตัวไหน กฎหมายใหม่มันต้องลบกฎหมายเก่า แต่เราก็ใช้สลับกันไปหมด" นายชำนาญ กล่าว
ด้านนายอภิรัตน์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง ผู้อำนวยการกองการสังคม กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เป็นตัวแทนรัฐบาลรับมอบรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี 2558-2559 พร้อมทั้งรับข้อเสนอจากตัวแทนของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เพื่อปรับปรุงแก้ไขสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
สถิติด้านสิทธิมนุษยชนที่จัดทำโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า ปัจจุบันพบการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและคุกคามสื่อมวลชนอย่างน้อย 113 ประเทศทั่วโลก ขณะที่มากกว่าร้อยละ 55 ของประเทศทั่วโลกพบการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรม โดยผู้ที่ถูกกล่าวหา ผู้เสียหาย หรือสาธารณชนไม่ได้รับความยุติธรรม ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงประเทศไทยด้วย
สรุปสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทย "ฉบับย่อ"
สำหรับสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย แอมเนสตี้ฯ ได้สรุปประเด็นสำคัญไว้ดังนี้
- การต่อสู้ด้วยอาวุธในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังเป็นปัญหาสิทธิมนุษยชนที่สำคัญของไทย
- ผู้เห็นต่างกับรัฐบาลไทยถูกคุกคาม เพียงแค่เล่นละคร โพสต์ความเห็นบน Facebook หรือเขียนข้อความบนฝาผนัง
- พลเรือนไทยถูกนำตัวขึ้นศาลทหารด้วยข้อหาเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศและความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์
- เกิดการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐมากมาย โดยเฉพาะนายสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน ที่เล่าว่าถูกทหารทุบตีและช็อตด้วยไฟฟ้ากว่า 40 ครั้ง
- นักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกคุกคาม โดยเฉพาะการยิงสังหารนายใช้ บุญทองเล็ก นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิที่ดินใน จ.สุราษฎร์ธานี
- นักกิจกรรมกลุ่มคนรักบ้านเกิด จ.เลย ถูกทหารทำร้าย ส่วนนายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ ผู้คัดค้านเหมืองแร่ใน จ.เลย ถูกเอกชนฟ้องหมิ่นประมาท
- รัฐบาลส่งกลับคนเชื้อสายกลุ่มชนเตอร์กิช 109 คนไปยังจีน แม้พวกเขาเสี่ยงจะถูกละเมิดสิทธิในจีนก็ตาม
- ทางการไทยห้ามเรือของชาวโรฮิงญาขึ้นฝั่ง ตลอดจนมีความล่าช้าในปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือเรือเหล่านั้น
- พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ หัวหน้าทีมสอบสวนคดีค้ามนุษย์ต้องลี้ภัยไปยังออสเตรเลีย โดยระบุว่าถูกปองร้ายเอาชีวิตและถูกแทรกแซง
กต.ออกแถลงการณ์ตอบโต้ ชี้ "ไม่คำนึงถึงบริบทไทย"
ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศของไทย ออกแถลงการณ์ตอบโต้ในประเด็นเรื่องเสรีภาพของประชาชน โดยยืนยันว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเคารพสิทธิมนุษยชนตามหลักปฏิบัติสากล ขณะที่สื่อหลายสำนักสามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้อย่างเสรี แต่ก็มีความจำเป็นต้องคำนึงถึงการรักษาความสงบเรียบร้อยและการป้องกันความแตกแยกในสังคม
นอกจากนี้ยังระบุว่า รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ประจำปี 2558-2559 ของแอมเนสตี้ฯ ไม่ได้คำนึงถึงบริบทที่ท้าทายในประเทศไทย ซึ่งจำเป็นต้องรักษาสมดุลระหว่างสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออกกับความจำเป็นที่จะต้องป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งทางการเมืองหวนคืนมาอีก จึงถือว่ารายงานนี้ขาดความสมดุลและไม่คำนึงถึงบริบทเฉพาะ รวมถึงไม่สะท้อนถึงพัฒนาการเชิงบวกจากการดำเนินการของรัฐบาล
ทั้งนี้แอมเนสตี้ฯ ได้มีการรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกผ่านคลิปวิดีโอที่กล่าวถึงหลายเหตุการณ์ เช่น การผลักดันผู้อพยพหลายแสนคนออกจากยุโรป การจับกุมคุมขังและลอบสังหารผู้ต่อต้านรัฐบาลในรัสเซีย หรือแม้แต่การที่ประชาชนชาวอังกฤษและสหรัฐฯ ถูกสอดแนมโดยรัฐบาล