ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"โคทม" เสนอ 4 ข้อที่ต้องทำก่อนประชามติร่าง รธน.

การเมือง
28 ก.พ. 59
20:12
248
Logo Thai PBS
"โคทม" เสนอ 4 ข้อที่ต้องทำก่อนประชามติร่าง รธน.
นายโคทม อารียา ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล เสนอสิ่งที่ควรทำ 4 ประการเพื่อนำไปสู่การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นที่ยอมรับได้

วันนี้ (28 ก.พ.2558) นายโคทม กล่าวในการบันทึกเทปรายการ "เวทีสาธารณะ" ในหัวข้อร่างรัฐธรรมนูญ ที่สถานทีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสว่า ขณะนี้สังคมควรจะมุ่งไปสู่กระบวนการทำประชามติ ซึ่งการจะทำให้ประชามติร่างรัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับได้นั้น นายโคทมเสนอว่ามีสิ่งที่จะทำ 4 ประการ คือ

1. ให้นำมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ว่าด้วยการลงประชามติมาใส่ไว้ในกฎหมายว่าด้วยการทำประชามติที่กำลังร่างอยู่ ซึ่งมาตรา 165 ระบุว่า ก่อนการออกเสียงประชามติรัฐต้องดำเนินการให้ข้อมูลอย่างเพียงพอ และเปิดโอกาสให้ฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเข้าถึงข้อมูลแสดงความคิดเห็นของตนอย่างเท่าเทียมกัน
2. ควรมีการถกแถลงกันว่า ในการทำประชามติควรมี 2 คำถามหรือไม่ คำถามแรก คือ รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ คำถามที่สอง คือ ถ้าไม่รับ ต้องการให้นำรัฐธรรมนูญฉบับใดมาปรับแก้และประกาศใช้ เป็นต้น
3.หลังจากเดือนมีนาคมหรือในช่วง 4 เดือนก่อนการทำประชามติในเดือนกรกฎาคม รัฐจะต้องเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนจัดเวทีถกแถลงภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างเต็มที่ บนพื้นฐานของการอภิปรายด้วยเหตุและผล
4.สังคมไทยต้องก้าวพ้นจากกับดัก "สังคมไว้ใจต่ำ" โดยการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน

"จุดที่ติดขัดที่สุดในขณะนี้ไม่ใช่เรื่องเหตุผล แต่เป็นเรื่องความไว้วางใจและทัศนคติต่อกัน ซึ่งแก้ยาก แต่ก็ต้องแก้ไข ถ้าไม่แก้ เวลาเราอภิปรายกันด้วยเหตุผลก็จะมีอคติและฉันทาคติอยู่ในใจมากเกินไป ทำยังไงเราถึงจะก้าวพ้นจากสังคมไว้ใจต่ำที่เราติดกับดักอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งการจะก้าวพ้นได้ ทุกฝ่ายที่เป็นตัวละครสำคัญในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญทั้งรัฐบาล, คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ, สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ฯลฯ ต้องทำตามที่พูด อย่าหมกเม็ด อย่าซ่อนเร้น อย่ามุ่งแต่เอาชนะอย่างเดียว ต้องยอมประนีประนอม หมั่นคุยกัน ตั้งใจฟัง และพูดเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ถ้าเราทำสิ่งเหล่านี้และเพิ่มความไว้วางใจกันได้ก่อนการทำประชามติ รวมทั้งรัฐเปิดกว้างในการให้ข้อมูลและจัดเวทีสาธารณะ การทำประชามติก็จะเป็นสิ่งที่รับได้" นายโคทมกล่าว

นายโคทมแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้มีจุดเด่น คือ มีความกระชับ มีระบบเลือกตั้งที่มีประสิทธิภาพ และเน้นการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน แต่ขณะเดียวกันก็มีประเด็นที่น่ากังวลอยู่ คือ บททั่วไปในมาตรา 4 และ 5 ที่เป็นหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญ ที่นายโคทมเห็นว่าไม่ครอบคลุมอุดมการณ์ของรัฐในระบอบประชาธิปไตย โดยมีข้อเสนอให้นำความในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 กลับมา ทั้งนี้ยังระบุว่ายังมีเวลาที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะปรับแก้ตามข้อเสนอของประชาชน ก่อนเปิดให้ทำประชามติ

ตัวแทนองค์กรภาคประชาชน เช่น กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) เครือข่ายด้านการคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงตัวแทนกลุ่มแรงงานและความหลากหลายทางเพศที่ร่วมรายการแสดงความเห็นตรงกันว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ 2550 ระบุไว้ชัดเจนให้ประชาชนมีอำนาจตามหมวดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ กลับระบุให้เป็นหน้าที่ของรัฐ ซึ่งสะท้อนว่าเป็นการให้ความสำคัญกับความมั่นคงของรัฐ แต่ไม่ให้ความสำคัญกับความมั่นคงของมนุษย์

ขณะที่นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศระบุว่า การรับฟังความเห็นที่ผ่านมา เป็นความเห็นที่มีประโยชน์ต่อกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากนำไปใช้ในการปรับแก้ จะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับของประชาชน

นายสุรชัย ตรงงาม นักกฎหมายจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมแสดงความเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นการร่างโดยคณะบุคคลคณะหนึ่ง และในระหว่างกระบวนการร่างควรมีการสื่อสารกับสังคมมากกว่านี้ ประชาชนเหมือนถูกมัดมือเพราะไม่ได้มีส่วนร่วมตั้งแต่แรก

 

ในส่วนของเนื้อหานั้น นายสุรชัยกล่าวว่า มีการปลี่ยนหลักการในหมวดสิทธิเสรีภาพที่เอาบางเรื่องไปอยู่ในหน้าที่ของรัฐ กลายเป็นแนวคิดแบบ "รัฐเป็นประธานแห่งเรื่อง" แล้วรัฐค่อยมาจัดการให้ประชาชน นอกจากนี้ยังตัดบางเรื่องออกไปจากหมวดสิทธิเสรีภพาพ เช่น เรื่องของการจัดทำผังเมือง ซึ่งก็สอดคล้องกับคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 3 และ 4/2559 ที่่ว่าด้วยการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมือง

"อีกเรื่องที่น่าเป็นห่วง คือ บทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ระบุว่า คำสั่งใดที่ออกโดยมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ให้ยังมีผลอยู่ต่อไป ซึ่งหมายความว่า กว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ คสช.ยังสามารถใช้มาตรา 44 ได้ ทั้งที่จริงๆ แล้วมาตรา 44 เปรียบได้เป็นยาแรง แต่ คสช.กลับใช้เป็นยาสามัญประจำบ้าน" นายสุรชัย

หมายเหตุ: ติดตามชมรายการเวทีสาธารณะ ตอน ข้อเสนอต่อร่างรัฐธรรมนูญ ได้ในวันศุกร์ที่ 4 มี.ค.2559 เวลา 13.00-14.00 น.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง