วันนี้ (29 ก.พ.2559) นายเทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยให้สัมภาษณ์ "ไทยพีบีเอส" ถึงกรณีที่ศาลชั้นต้นตัดสินว่านายสรยุทธ พิธีกรชื่อดังและผู้บริหาร บ.ไร่ส้ม จำกัด มีความผิดกรณีไม่ชำระเงินค่าโฆษณาเกินเวลาให้ บมจ.อสมท ว่านายสรยุทธต้องพิจารณาตัวเองต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนต่อไป เพราะคำตัดสินนี้ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือทั้งต่อตัวบุคคลและสถานทีโทรทัศน์ช่อง 3 เตือนต้องรับฟังอารมณ์ความรู้สึกของสังคม
"อันดับแรกเลย กรณีนี้เป็นบทเรียนที่ใหญ่มากสำหรับคนทำสื่อ เพราะการทำสื่อไม่ใช่แค่ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ในการรายงานข่าวหรือแสดงความคิดเห็นเพียงอย่างเดียว แต่คนที่ทำธุรกิจสื่อก็ต้องซื่อสัตย์ต่อตัวเองด้วย มันเป็นบทเรียนเพราะไม่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ของสื่อที่คนทำสื่อที่เป็นที่รู้จักของคนมากมายขนาดนี้ จะถูกลงโทษในกรณีที่เกี่ยวกับการทุจริตในลักษณะนี้ ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ชัดเจนมากว่า เมื่อศาลชั้นต้นตัดสินออกมาในลักษณะนี้ก็ไม่ควรทำหน้าที่รายงานข่าวหรือวิเคราะห์ข่าวต่อไป เพราะความน่าเชื่อถือจะถูกสั่นคลอนอย่างมาก และทั้งตัวช่อง 3 เองและพิธีกรเองก็ต้องเคารพความรู้สึกของคนในสังคมด้วยว่า เขามีความรู้สึกอย่างไรต่อกรณีที่เกิดขึ้น ไม่มีข้ออ้างที่จะไม่ฟังหรือรับรู้ความรู้สึกของคนในสังคมและผลที่ออกมาจากกระบวนการยุติธรรม
"เขา (สรยุทธ์) น่าจะรู้ดีว่าควรทำอย่างไร เพราะภาพของสรยุทธ์ คือ คนทำสื่อ สิ่งที่สำคัญที่สุดของคนทำสื่อคือความน่าชื่อถือ ทันทีที่กระบวนการยุติธรรมพิพากษาออกมาแบบนี้ แม้ว่าจะเป็นศาลชั้นต้นก็ตาม แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นจริง ย่อมเป็นการสั่นคลอนความน่าเชื่อถือของตนเองอย่างมาก ลองคิดดูว่าถ้าเกิดคุณสรยุทธ์ทำหน้าที่ของตัวเองแล้วไปสัมภาษณ์นักธุรกิจ นักการเมืองหรือใครก็ตามในเรื่องของการทุจริต ความน่าเชื่อถือของคำถามจะมีมากแค่ไหน" นายเทพชัยกล่าว
"ผมหวังว่าผู้บริหารช่อง 3 น่าจะรู้ดีว่า ผลกระทบต่อช่อง 3 จะเป็นอย่างไรถ้ายังยืนยันให้คุณสรยุทธ์ทำหน้าที่ต่อไป อันนี้ไม่ใช่เป็นการซ้ำเติม แต่กำลังมองในแง่ของผลกระทบที่เกิดขึ้นว่าเมื่อศาลพิพากษาแบบนี้ และอารมณ์ของคนในสังคมเป็นแบบนี้ ก็ต้องเคารพอารมณ์ความรู้สึกของคนในสังคม"
นายเทพชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีนี้ตอกย้ำให้เห็นว่าการทำหน้าที่ของสื่อในปัจจุบันนี้ ต้องระมัดระวังเรื่องของหลักการและความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่มากขึ้น
"อาจจะมีการแข่งขันที่แหลมคมมากขึ้นในวงการสื่อ แต่ไม่ได้หมายความว่าแข่งขันกันเพื่อเอาชนะทุกอย่างโดยไม่เคารพ กฎ กติกาหรือระเบียบ หรือความถูกต้องที่มีอยู่ ยิ่งแข่งขันกันมาก สื่อยิ่งต้องมีภาพขององค์กรหรือตัวบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือ มีความสุจริต มีความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่มากยิ่งขึ้น ไม่ใช่บอกว่าซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพสื่อในการทำหน้าที่ แต่พอมาทำธุรกิจสื่อก็พยายามหาช่องโหว่ในการทำกำไรให้มากที่สุด ผมคิดว่ามันไม่สามารถแยกกันอย่างนั้นได้ ถ้าคุณทำสื่อ ไม่ว่าจะทำหน้าที่ในฐานะสื่อที่รายงานข่าว คุยข่าว สัมภาษณ์หรือวิเคราะห์ มันก็ต้องอาศัยความซื่อสัตย์พอๆ กับการบริหารองค์กรที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวกับสื่อ"
ในส่วนของบทบาทขององค์กรวิชาชีพสื่อต่อการตรวจสอบกรณีนี้ในช่วงก่อนหน้านี้ นายเทพชัยกล่าวว่า "พูดกันแบบตรงไปตรงมา คือ คุณสรยุทธ์ไม่ได้เป็นสมาชิกขององค์กรสื่อด้านไหนเลย เพราะฉะนั้นการที่องค์กรวิชาชีพสื่อจะดำเนินการในการตรวจสอบหรือการลงโทษใครก็ตาม บุคคลคนนั้นหรือองค์กรต้นสังกัดต้องเป็นสมาชิกขององค์กรวิชาชีพ เราถึงจะดำเนินการได้"
สำหรับอนาคตของบริษัท ไร่ส้ม นายเทพชัยกล่าวว่าเป็นคำถามใหญ่ว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร เมื่อผู้บริหารใหญ่โดนข้อกล่าวหาและพิพากษาแบบนี้ สังคมก็คงมีความรู้สึกชัดเจนต่อบริษัทนี้ ถ้าเดินหน้าต่อไปก็ต้องเตรียมใจพบกับกระแสของสังคมในเชิงลบที่มีต่อบริษัท
สำหรับรายการที่นายสรยุทธเป็นพิธีกรทางไทยทีวีสีช่อง 3 ได้แก่ รายการเรื่องเล่าเช้านี้, รายการเจาะข่าวเด่น ประเด็นร้อน กับสรยุทธ สุทัศนะจินดา ซึ่งออกอากาศในช่วงเรื่องเด่นเย็นนี้ และรายการเรื่องเล่าเสาร์-อาทิตย์
นักวิชาการเรียกร้อง "สรยุทธ์" แสดงสปิริตพักงานหน้าจอ
ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้า กล่าวถึงกรณีนายสรยุทธและ บ.ไร่ส้ม ว่านับเป็นบทเรียนที่ดีที่นักนิเทศศาสตร์จะได้ศึกษาทั้งในเชิงของกฎหมายและเชิงจริยธรรม
"แต่ขณะนี้สิ่งที่คุณสรยุทธควรแสดงสปิริตคือ พักการออกหน้าจอช่วงระยะเวลาหนึ่งจนกว่าการพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาจะเป็นที่สิ้นสุด แม้ว่าคดีจะยังไม่ถึงที่สิ้นสุด แต่การพักการปฏิบัติหน้าที่สื่อ เป็นการแสดงสปิริตและปฏิบัติตามจริยธรรมและจรรยาบรรณของสื่อมวลชน เพราะการออกหน้าจอบางทีอาจมีส่วนได้ส่วนเสียทั้งในเรื่องคดีหรือเวลาที่เชิญบุคคลอื่นมาพูดคุยหรือสัมภาษณ์ เช่น หากเชิญนักการเมืองที่เคยมีประวัติเกี่ยวกับการประพฤติมิชอบ ถ้าคนที่สัมภาษณ์ก็มีเรื่องราวแบบนี้อยู่อาจจะดูไม่เหมาะสม ขณะเดียวกันสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ก็ควรจะพิจารณาด้วยเช่นกัน เพราะเป็นเครดิตของสื่อมวลชนในภาพรวม เพราะสำหรับสื่อมวลชน ความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ควรทำให้สังคมเห็นว่า เมื่อสื่อมวลชนมีข้อผิดพลาดก็พร้อมจะขออภัยและขอเว้นวรรคชั่วคราว การกระทำเช่นนี้ควรเป็นบรรทัดฐานที่สื่อควรกระทำกัน ขณะเดียวกัน สภาวิชาชีพสื่อมวลชนก็ควรแสดงบทบาทให้ชัดเจนว่า สิ่งที่นายสรยุทธควรทำหรือไม่ควรทำคืออะไร" ดร.มานะกล่าว