วันนี้ (1 มี.ค.2559) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหาสายการบินนกแอร์ว่า ตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ.2559 กระทรวงฯ ได้เชิญผู้บริหารสายการบินนกแอร์มาตักเตือน และในวันที่ 22 ก.พ.ได้มอบหมายให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เข้าไปตรวจสอบสายการบินนกแอร์ โดยตรวจสอบชั่วโมงบินของนักบิน การบริหารงานของสายการบิน และแผนฉุกเฉินเฉพาะหน้า
การตรวจสอบครั้งนี้มีขึ้นหลังจากสายการบินนกแอร์ได้ยกเลิกเที่ยวบินอย่างกะทันหันจำนวน 9 เที่ยวบิน เมื่อวันที่ 14 ก.พ.2559 ทำให้ผู้โดยสารราว 3,000 คนได้รับความเดือดร้อน และต่อมายังได้มีการยกเลิกอีกหลายเที่ยวบินเนื่องจากประสบปัญหานักบินขาดแคลน
นายอาคมกล่าวว่า กพท.ได้รายงานผลการตรวจสอบเบื้องต้นว่า ในส่วนของชั่วโมงบินของนักบินสายการบินนกแอร์พบว่า นักบินมีชั่วโมงบินเกินกว่าที่กำหนดเล็กน้อย แต่เรื่องนี้จำเป็นต้องตรวจสอบเพิ่มเติมเนื่องจากพบว่าการบันทึกข้อมูลชั่วโมงการบินของนักบินสายการบินนกแอร์ไม่ตรงตามที่ กพท.กำหนด กล่าวคือ สายการบินนกแอร์บันทึกข้อมูลการทำการบินของนักบินเป็นรายเดือน แต่ตามประกาศของ กพท. สายการบินจะต้องระบุข้อมูลการบินของนักบินเป็นรายสัปดาห์ รายเดือน และรายปี ซึ่งชั่วโมงบินจะต้องไม่เกินมาตรฐาน
จากระบบการเก็บข้อมูลที่ไม่ตรงกันนี้ ทำให้ กพท.จะต้องตรวจสอบอีกครั้ง โดยสายการบินนกแอร์ต้องแสดงข้อมูลให้ตรงเป็นราย 7 วันราย รายเดือนและรายปี โดยคาดว่าจะทราบผลภายในเดือนเมษายน และหลังจากนี้จะมีการตรวจสอบอีก 13 สายการบินเพิ่มเติม นายอาคมกล่าวและย้ำว่า สายการบินมีหน้าที่กำกับและนักบินต้องมีวินัยตามประกาศของกรมการบินเรือนวันที่ 1 ธ.ค.2552 เรื่องข้อจำกัดเวลาทำการบินตรวจระยะเวลาทำการบินระยะเวลาการบินและระยะเวลาพักผ่อนของนักบิน
"เราให้เวลาอีก 1 เดือน เพราะเราพบว่าสายการบินนกแอร์เก็บข้อมูลไม่ตรงกับเกณฑ์ ทำให้ต้องกลับไปดูใหม่" นายอาคมกล่าว
สำหรับการตรวจสอบเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคจากกรณีสายการบินนกแอร์ยกเลิกเที่ยวบินกะทันหันเมื่อวันที่ 14 ก.พ. พบว่าสายการบินมีการชดเชยผู้โดยสารไปแล้วร้อยละ 90 โดยในวันที่ 14 ก.พ.มีผู้โดยสารมาทำการเช็กอินจำนวน 3,200 คน คืนตั๋ว 374 คน โดยสายการบินได้โอนย้ายผู้โดยสารไปยังสายการบินพันธมิตรและขนส่งผู้โดยสารทางรถยนต์ ซึ่ง กพท. จะดูแลให้สายการบินนกแอร์ชดเชยผู้โดยสารอย่างครบถ้วน
สำหรับแผนการปรับโครงสร้างการบริหารงานของสายการบินนกแอร์เพื่อรองรับแผนขยายธุรกิจไปยังยุโรป ซึ่งจะต้องได้มาตรฐานตามกำหนดขององค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (EASA) นั้น ทางกระทรวงฯ พบว่าไม่มีปัญหาหรือขัดต่อระเบียบกระทรวง
ตามแผนการปรับโครงสร้างการบริหารของสายการบินนกแอร์นั้น จะมีการแยกโครงสร้างการบริหารงานระหว่างฝ่ายปฏิบัติการด้านการบินและฝ่ายกำกับการบินให้ชัดเจน รวมถึงย้ายส่วนของการฝึกอบรมให้ขึ้นตรงกับผู้บริหาร เพื่อให้สายการบินมีประสิทธิภาพ
ส่วนการทำการบินของสายการบินนกแอร์ที่ให้สายการบินพันธมิตรมาช่วย สายการบินนกแอร์ได้แจ้งกับกระทรวงคมนาคมว่าจะให้สายการบินพันธมิตรมาช่วยจนถึงวันที่ 10 มี.ค.อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมระบุว่า จะต้องติดตามสถานการณ์แบบวันต่อวัน
ส่วนการจัดหานักบินนั้น สายการบินนกแอร์รายงานว่า ขณะนี้มีจำนวน 190 คน และจะมีนักบินเพิ่มอีกจำนวนหนึ่ง ทั้งนักบินที่ลาออกไปแล้วและขอกลับมาทำงานใหม่ และนักบินต่างชาติจากสายการบินพันธมิตร ซึ่งเป็นนักบินโบอิ้งประมาณ 10 คนโดยกระทรวงคมนาคมจะช่วยอำนวยความสะดวกเรื่องการออกใบอนุญาต