วันนี้ (4 มี.ค.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตุลาการศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงทางการเมือง นัดไต่สวนพยานฝ่ายโจทก์ นัดที่ 4 จำนวน 2 ปาก ประกอบด้วย นายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. และอดีตประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว และ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์และการเบิกความนัดที่ 4 นี้ นับว่าวิชา มหาคุณ เป็นบุคคลที่ถูกจับตามองมากที่สุด และน่าจะเป็นบุคคลที่ถูกคาดหวังถึงการเบิกความในข้อเท็จจริงมากที่สุดด้วย เพราะเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. ไม่เพียงเป็นผู้รับผิดชอบไต่สวนและสรุปสำนวนคดีนี้โดยตรง แต่ยังเป็นผู้ที่สรุปสำนวนคดีทางการเมือง เพื่อส่งให้ สนช.ถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวด้วย
คาดการณ์ว่า นายวิชาจะอ้างอิงข้อมูลในการแถลงปิดคดีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 22 ม.ค.2558 ซึ่งขณะนั้นชี้ว่า โครงการรับจำนำข้าวเป็นการทุจริตเชิงนโยบาย เกิดความเสียหายต่อระบบการเงิน การคลังของประเทศ โดยใช้คำว่า รัฐบาลจำนำข้าว ชาวนาจำนำชีวิต และประเทศจำนำหนี้ และผลแห่งคดีทางการเมืองก็มีโทษตัดสิทธิ์ทางการเมืองไปแล้วถึง 5 ปี และเป็นที่คาดการณ์ว่า นายวิชาจะอ้างถึงข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่แนะนำให้ใช้วิธีประกันราคาข้าว ที่จะมีความเสี่ยงน้อยกว่า แต่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ยังคงเลือกที่จะดำเนินการด้วยวิธีรับจำนำต่อไป
ในขณะเดียวกันก็พบความผิดปกติในขั้นตอนหรือกระบวนการ โดยกำหนดราคาข้าวสูงกว่าตลาด และรับจำนำข้าวทุกเมล็ด ด้วยเหตุผลว่าสืบเนื่องจากสัญญาทางการเมือง ที่เคยหาเสียงเลือกตั้งไว้ ทั้งนี้ยังต้องย้ำถึงกรณีที่ ป.ป.ช.ได้ทำหนังสือเตือนไปยังรัฐบาลถึง 2 ครั้ง ด้วยความห่วงใยต่อผลเสียหายที่จะเกิดขึ้น แต่ก็ไม่เป็นผลในการระงับยับยั้งโครงการนี้ได้
ขณะที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งพรรคฝ่ายค้าน ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าวอย่างต่อเนื่องและเข้มข้น และเป็นบุคคลสำคัญในพรรคประชาธิปัตย์ ที่ออกมาเปิดเผยข้อมูลเรื่องนี้ นับแต่ต้นปี 2556 กรณีเปิดอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 หลังรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ดำเนินโครงการนี้มาระยะหนึ่งแล้ว พบว่ามีการทุจริตในหลายขั้นตอน ตั้งแต่การขึ้นทะเบียนชาวนา การนำข้าวเปลือกเข้าโรงสี การนำข้าวสารที่สีแล้วเข้าโกดัง และการระบายข้าว ที่มีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้น จนนำไปสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ช่วงปลายปี 2556 พร้อมกับยื่นให้ ป.ป.ช.ถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยเสียงสนับสนุนจากส.ส. 146 คน