เรียกว่าเป็นการรอรถไฟที่ต่างบรรยากาศไปจากเดิมๆ เมื่อพื้นที่ 144 ตารางเมตร กลางโถงสถานีรถไฟหัวลำโพงถูกแปลงโฉมด้วยเสื่อ เก้าอี้บีนแบ็ก ดอกไม้ดูสบายตา และศิลปะการเต้น นำโดยศิลปินเลือดใหม่ หลอดไฟ นวินดา ปัจฉิมสวัสดิ์ ออกแบบให้กลมกลืนกับพื้นที่จัดสรรใหม่
นี่คืองานทดลองค้นหาและตั้งคำถามกับพื้นที่สาธารณะในโครงการ ASA-Community Act Network ของกลุ่มสถาปนิกรุ่นใหม่ หรือ Young CAN บนพื้นที่สาธารณะที่คนใช้ร่วมกัน ตั้งแต่คนเดินทาง นักท่องเที่ยวต่างชาติ จนถึงคนไร้บ้าน เวลาของการรอที่ยาวนานหลายชั่วโมงบนเก้าอี้พักผู้โดยสารส่วนหนึ่ง จึงเปลี่ยนมาเป็นบนลานเสื่อที่ดูราวกับสวนขนาดย่อม
นักศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตร์ ครุศาสตร์ อุตสาหกรรม นิสิตรัฐศาสตร์ และสถาปนิกชุมชนรุ่นใหม่ ที่ร่วมโครงการกว่า 30 คน จาก 6 สถาบัน ได้แลกเปลี่ยนจากสิ่งที่สังเกตได้ ผ่านพฤติกรรมการใช้สอยพื้นที่สาธารณะ เก็บผลจากงานทดลองเชิงปฏิบัติการและพบว่าเกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนทั้งที่รู้จักและไม่รู้จักกัน
ทั้งนี้ พื้นที่ยังเอื้อต่อการรอคอยด้วยรูปแบบอื่นๆ ที่มากกว่าการนั่งเฉยๆ เช่น อ่านหนังสือ ถักไหมพรม นอนพักผ่อน ทำให้คลายเหนื่อยล้าจากการเดินทางและหย่อนใจมากขึ้น อีกทั้งการศึกษายังเปิดโอกาสให้สถาปนิกได้ทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ
การทดลองออกแบบพื้นที่สาธารณะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Ten for 90 "Public Transit Lounge" สนับสนุนโดยกรรมาธิการสถาปนิกชุมชน สมาคมสถาปนิกสยามฯ ได้รับความร่วมมือจากการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้พื้นที่เพื่อการศึกษา ก่อนนำข้อสังเกตที่ได้มาสรุปร่วมกัน เพื่อเริ่มต้นวางแนวทางการออกแบบพื้นที่สาธารณะ