วันนี้ (11 มี.ค.) เวลา 16.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีการคัดค้านคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 9/2559 ที่อนุญาตให้เปิดประมูลโครงการต่างๆ ได้ ทั้งๆ ที่รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ยังไม่ผ่านการพิจารณาว่า เรื่องนี้รัฐบาลพยายามผลักดันโครงการต่างๆ ให้เกิดขึ้นในเชิงปฏิบัติ เพราะได้กำหนดแผนดำเนินการไว้ แต่ติดบางขั้นตอน เราจึงหาวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เช่น การทำคู่ขนานกัน เหมือนก่อนหน้านี้ที่ เมื่อมีโครงการอะไร แต่ไม่สามารถเดินหน้าได้ จนกว่าจะได้รับการอนุมัติงบประมาณ จึงมีการเปลี่ยนให้ดำเนินการได้ ในส่วนที่ไม่ผูกพันงบประมาณ แต่จะยังลงนามไม่ได้ จนกว่าจะมีการอนุมัติงบประมาณออกมา เช่นเดียวกับเรื่องนี้โครงการที่เป็นประโยชน์กับประชาชนสามารถอนุมัติตามกรอบคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 9/2559 ได้ ส่วนอีไอเอและอีเอชไอเอยังเดินหน้า เมื่อสมบูรณ์แล้วจึงลงนามได้ ยืนยันว่าไม่ใช่การบีบเพื่อทำให้อีไอเอและอีเอชไอเอผ่าน เพราะเป็นคนส่วนกัน เรื่องอีไอเอและอีเอชไอเอมีความสำคัญ
“วิธีการนี้เหมือนขบวนรถไฟ จากเดิมที่ต่อกันมาเป็นทำคู่ขนาน ให้สองขบวนไปด้วยกัน ไปหยุดรอที่ปลายทาง เมื่อไปถึงทั้งสองขบวนค่อยดำเนินโครงการ เป็นการลดเวลา ทั้งนี้ ตนคิดว่าข้อมูลที่มีการเผยแพร่ในสื่อนั้นถูกต้องแล้ว แต่คำวิพากษ์วิจารณ์อาจจะยังคลาดเคลื่อนอยู่ จึงต้องมีการทำความเข้าใจมากขึ้น ตอนนี้โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงอยู่ และขอให้ช่วยกันอธิบาย” พล.อ.อ.ประจิน กล่าว
ด้านนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเดียวกันและมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะเป็นการเปิดช่องให้เอกชนรับโครงการรัฐบาล โดยไม่ต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ว่า ภาคเอ็นจีโอก็มีตัวแทนอยู่ในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)และได้ทำการศึกษาเรื่องนี้ร่วมกันในสปท.ส่วนรัฐบาลเห็นด้วยกับประเด็นที่เป็นหลักการใหญ่ตามที่สปท.และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สปท.)เสนอโดยเฉพาะเรื่องการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และจะเดินหน้าขับเคลื่อนงานและรายงานไปถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบของแห่งชาติ(คสช.)เพื่อให้ความเห็นชอบและขับเคลื่อนงานร่วมกันต่อไป
“ฟังดูจากกลุ่มที่เขาคัดค้าน เขาบอกต้องการให้มีการปฏิรูปและเขาเห็นด้วยกับการ ปฏิรูป ซึ่งรัฐบาลก็กำลังดำเนินการอยู่ และการเร่งรัดการปฏิรูปก็ไม่ได้หมายความว่า จะเร่งรัดเพื่อลดขั้นตอน แต่เร่งรัดเพื่อให้ดำเนินการตามแผนปฏิรูปที่สปท.เสนอ นี่คือหัวใจของเรื่องนี้” นายสุวพันธุ์กล่าว
นายสุวพันธุ์กล่างต่อว่า คำสั่งตามมาตรา 44 ที่ออกมาก็ว่ากันไป ส่วนการปฏิรูปในเรื่องนี้ก็ว่าไป เพราะการปฏิรูปมีเรื่องของการประเมินผลสิ่งแวดล้อม ก็ต้องเดินไปร่วมกันระหว่างฝ่ายราชการและสภาขับเคลื่อนที่มีตัวแทนจากภาคต่างๆเข้ามาร่วมศึกษาด้วยตลอด ในเมื่อต่างฝ่ายต่างเห็นด้วยเรื่องการปฏิรูปจะเดินไปคู่กันตามนี้ การเร่งรัดเรื่องการปฏิรูปของตนไม่ได้แปลว่าเร่งรัดเพื่อลดขั้นตอนอย่างที่เข้าใจไม่ใช่การกระเหี้ยนกระหือรือเพื่อจะทำอะไรอย่างที่มีการวิจารณ์
“ขอย้ำว่าคำว่า ลดขั้นตอนนั้นเป็นการลดขั้นตอนการประเมิน เพื่อทำให้ทุกอย่างสั้นลง แต่ไม่เสียคุณภาพซึ่งทางเอกชนซึ่งทางเอกชนก็บอกว่า บางขั้นตอนล่าช้าเราต้องหาวิธีการทำให้เร็ว โดยคุณภาพของการประเมินโดยเรื่องนี้อยู่ในกรอบของการปฏิรูปไม่ใช่เรื่องใหม่ไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลไปกำหนดกฎกติกาใหม่”
ผู้สื่อข่าวถามว่ารัฐบาลจะมีการทำความเข้าใจกับกลุ่มเอ็นจีโอบางส่วนที่ยังคัดค้านในเรื่องนี้อย่างไร นายสุวพันธ์กล่าวว่า เป็นเรื่องของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีเจ้าหน้าที่ดูแลในเรื่องนี้อยู่ ตนคิดว่าหากยังมีการไม่ค่อยไม่เข้าใจก็ต้องไปชี้แจง