เมื่อวานนี้ (11 มี.ค.2559) นายสรวิศ ธานีโต รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยกรณีที่เครือข่ายผู้บริโภครณรงค์ให้บริษัทฟาสต์ฟู้ดยักใหญ่ยุติการใช้เนื้อสัตว์ที่ถูกเลี้ยงมาด้วยยาปฏิชีวนะว่า มีการใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาสัตว์ และใช้ตามความจำเป็น เมื่อสัตว์เกิดอาการเจ็บป่วย ซึ่งทุกขั้นตอนของการใช้ยาต้องอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มว่าจะสามารถใช้ยาปฏิชีวนะชนิดใดกับสัตว์ได้บ้าง และระยะเวลาการหยุดให้ยาก่อนนำสัตว์ออกจำหน่าย ตามกฎหมายควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ปี 2558 และกฎหมายวิชาชีพการสัตวแพทย์ปี 2545 รวมทั้งคำนึงถึงความปลอดภัยต่อผู้บริโภค
รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า การใช้ยาปฏิชีวนะกับสัตว์ของประเทศไทย สอดคล้องตามหลักสากล แม้ว่ายาปฏิชีวนะบางตัว ซึ่งอาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยาในคน แต่กรมปศุสัตว์ได้ประกาศห้ามใช้กับสัตว์ ได้แก่ เอ็นเทอโรค๊อกคัท (Enterococcus), สตาฟไฟโลค๊อกคัท ออเรียส (Staphylococcus aureus), เอสเชอลีเซีย โคไล ( Escherichia coli) และซัลโมเนลา (salmonella app)
นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า ยอมรับว่าผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยบางส่วนจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ เพื่อรักษาอาการป่วยของสัตว์เลี้ยง และกระตุ้นการกินอาหารของสุกร แต่พบว่าผู้เลี้ยงส่วนใหญ่ทำตามข้อปฏิบัติของกรมปศุสัตว์
ไทยพีบีเอสสอบถามไปยังฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัทฟาสต์ฟู้ดยี่ห้อหนึ่ง ยอมรับว่าต้องการให้เน้นตรวจสอบการใช้ยาปฏิชีวนะในอุตสาหกรรมผลิตเนื้อสัตว์มากกว่า เพราะขณะนี้แม้จะมีการกำหนดมาตรฐานการได้มาซึ่งวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังจำเป็นต้องใช้วัตถุดิบจากผู้ผลิตรายใหญ่