วันนี้ (15 มี.ค. 2559) นายสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี นักข่าวอาวุโส สำนักข่าวเดอะ เนชั่น ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ให้สัมภาษณ์กับ เว็บไซต์ไทยพีบีเอส หลังสมาชิกรัฐสภาเมียนมาลงมติด้วยคะแนน 360 เสียงจาก 652 เสียง เลือกนายทิน จ่อ ตัวแทนจากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ แทน พล.อ.เต็ง เส่ง ประธานาธิบดีคนปัจจุบันที่จะหมดวาระลงในสิ้นเดือน มี.ค. 2559 ว่า แม้จะเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี ที่ประเทศเมียนมาได้ผู้นำที่มาจากพลเรือนจากโดยประชาชนเป็นผู้เลือก และไม่เกี่ยวข้องกับกองทัพ จนอาจทำให้เห็นภาพว่าเมียนมากำลังเคลื่อนสู่สังคม “พลเรือนเป็นใหญ่” หรือ “Civilian Supremacy”
แต่ในความจริงไม่ใช่เรื่องง่าย กับประเทศที่อยู่ในระบอบการปกครองโดยทหารที่คิดว่าตัวเองเป็นผู้สร้างประเทศมาตลอดหลายสิบปี ดังนั้น การบริหารประเทศเมียนมานับจากนี้ จะยังไม่เห็นภาพการใช้ประชาธิปไตยอย่างเต็มใบ แต่จะเป็นการปกครองในแบบประนีประนอมระหว่างพรรคเอ็นแอลดีและกองทัพ
นายสุภลักษณ์ อธิบายว่า ที่เป็นเช่นนั้น เพราะในรัฐธรรมนูญเมียนมาฉบับปัจจุบัน ยังบัญญัติให้ทหารมีบทบาทในตำแหน่งสำคัญ ๆ ของบ้านเมือง เช่น รมว.กลาโหม รมว.หมาดไทย หรือแม้แต่ตำแหน่งรองประธานาธิบดี ซึ่งขณะนี้ได้ พล.ท. มินท์ ชเว ตัวแทนจากกองทัพขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานาธิบดีคนที่ 1 จากคะแนนที่มากเป็นอันดับ 2 จำนวน 213 เสียง
นอกจากนี้ ในรัฐธรรมนูญยังบัญญัติไว้ด้วยว่า หากเกิดเหตุการณ์วุ่นวายขึ้นในประเทศ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดสามารถเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลขณะนั้นได้เลย ดังนั้น แม้พรรคเอ็นแอลดีจะมีแรงหนุนจากประชาชน ก็ยังไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก จนกว่าพรรคเอ็นแอลดีในฐานะรัฐบาลจะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา เพื่อลดทอนอำนาจทหาร และดันนางออง ซาน ซูจี ขึ้นเป็นประธานาธิบดี ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดที่คาดว่าทางพรรคจะทำให้เสร็จ ภายในระยะเวลาดำรงตำแหน่งพรรครัฐบาล 5 ปี ทว่า เบื้องต้นคาดว่านางออง ซาน ซูจี จะได้ดำรงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งในรัฐบาลแน่นอน หลังการจัดตั้งคณะรัฐบาลเสร็จสิ้น
“แต่ถึงอย่างไรบรรยากาศจะดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก เพราะทั้งรัฐบาลทหารและพรรคเอ็นแอลดี ต่างมีบทเรียนที่ทำให้รู้ว่าอะไรไม่ควรทำ เช่น พรรคเอ็นแอลดีจะไม่สามารถหักดิบ จนทำให้ประชาชนลุกขึ้นมาประท้วงจนเสียเลือดเสียเนื้ออีก หรือแม้แต่กองทัพก็ต้องเรียนรู้ถึงการปรับตัวให้อยู่ได้ในสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป” ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ระบุ
นายสุภลักษณ์ กล่าวอีกว่า ส่วนการบริหารร่วมกันระหว่างพรรคเอ็นแอลดีและกองทัพ จะมีอยู่ 3 เรื่องใหญ่ ที่จะเป็นบทพิสูจน์ว่าทั้ง 2 ฝ่าย ทำงานร่วมกันได้ดีหรือไม่ คือ 1.บทบาทของกองทัพทางการเมือง 2.การเจรจากับกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศ ซึ่งเดิมรัฐบาลทหารได้เจรจาขอหยุดการยิงต่อสู้ไว้ส่วนหนึ่ง พรรคเอ็นแอลดีจะดำเนินเรื่องนี้ต่อไปอย่างไรในการสร้างสันติภาพ และได้มาซึ่งความไว้ใจจากกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งแน่นอนว่าพรรคไม่สามารถทำแต่เพียงผู้เดียวได้
และ 3.ปัญหาใหม่คือความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธและมุสลิมหรือโรฮิงญาในเมียนมา โดยรัฐบาลทหารมีความคิดเห็นแข็งกร้าวในเรื่องนี้ แต่ทางพรรคเอ็นแอลดียังไม่แสดงจุดยืนในเรื่องดังกล่าวว่าจะให้สิทธิหรือแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร
สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี นักข่าวอาวุโส สำนักข่าวเดอะ เนชั่น ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา
ส่วนความเปลี่ยนแปลงในด้านเศรษฐกิจ หลังการเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดี ที่หลายประเทศรวมถึงประเทศไทยจับตาเมียนมาอยู่นั้น นายสุภลักษณ์ กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้สร้างภาพลักษณ์ที่ดี และสร้างความมั่นใจให้กับกลุ่มประเทศตะวันตก กลุ่มเอเชีย หรือแม้แต่ในกลุ่มอาเซียนด้วยกันเอง จากเดิมที่ไม่กล้าเข้าไปลงทุนเพราะเกรงอำนาจทหาร แต่เมื่อระบอบการปกครองโปร่งใสมากขึ้น เมียนมาจะกลายเป็นพรหมแดนใหม่ของการลงทุน
ขณะเดียวกัน ก็มีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องไม่น้อย ทั้งเศรษฐกิจโลก การเมืองภายใน ซึ่งนายทุนเมียนมาส่วนใหญ่สนับสนุนพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (ยูเอสดีพี) ซึ่งอยู่คนละฝั่งกับพรรคเอ็นแอลดี รวมถึงนายทุนจากสาธารณรัฐประชาชนจีนที่เข้าไปลงทุนในเมียนมามากขึ้น แต่ทางพรรคเอ็นแอลดีไม่ค่อยปลื้มนายทุนจีนมากนัก โดยเฉพาะในกลุ่มเหมืองแร่
“สุดท้าย ทางออกเพื่อให้เศรษฐกิจเมียนมาเติบโตและทั้งประเทศรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ อยู่ที่การแก้ไขข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ห้ามไม่ให้ผู้ที่สมรสกับชาวต่างชาติ หรือมีบุตรหรือธิดาถือสัญชาติอื่นที่ไม่ใช่เมียนมาเล่นการเมือง ซึ่งไม่ใช่แค่เอื้อให้นางซูจีสามารถขึ้นแท่นเป็นประธานาธิบดีเมียนมาได้ในอนาคตตามทำเนียมของพรรครัฐบาลทั่วไป แต่หมายถึงการเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาช่วยบริหารประเทศ” นายสุภลักษณ์ กล่าว