นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดแถลงข่าวเรื่อง "มาตรการการจัดระบบป้องกันอัคคีภัยจากสารเคมีในอาคาร" เพื่อเป็นการให้ความรู้ ภายหลังเกิดอุบัติเหตุในการปรับปรุงระบบอัคคีภัยของธนาคารไทยพาณิยช์ สำนักงานใหญ่ โดยตอนหนึ่ง ผศ.ศรัณย์ เตชะเสน จากภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุถึง สารไพโรเจนซึ่งมีการใช้ในระบบป้องกันอัคคีภัยในอาคารสำนักงานของธนาคารไทยพาณิชย์ ว่าเป็นสารเคมีชนิดใหม่และมีการโฆษณาว่ามีพิษต่ำ การออกฤทธิ์ขึ้นอยู่กับเวลาและบริเวณแวดล้อม ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นเป็นพื้นที่ปิดจึงทำให้เกิดผลกระทบ ส่วนที่มีผู้เสียชีวิตคาดว่าเกิดจากความประมาทและการจัดการรับมือกับระบบป้องกันภัย
ด้าน ศ.ธีรยุทธ์ วิไลวัลย์ จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้เกี่ยวข้องไม่ทราบว่าการปรับปรุงห้องเก็บเอกสารเป็นกิจกรรมที่เสี่ยงกระตุ้นการทำงานของระบบดับเพลิงห้องใต้ดิน เมื่อเกิดเหตุห้องปิดล็อกไม่สามารถเข้าออกได้ ไม่มีเครื่องช่วยหายใจคู่กับระบบป้องกันอัคคีภัยระบบนี้ จึงสันนิษฐานได้ว่าเจ้าของอาคารขาดการประเมินและการบริหารจัดการความเสี่ยงและขาดการสื่อสารความเสี่ยงกับผู้รับเหมาและพนักงานของบริษัท
นพ.ครองวงศ์ มุสิกถาวร หัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ ยืนยันว่า สารไพโรเจนมีพิษน้อยและการอยู่ในพื้นที่จำกัดอาจจะได้รับสารพิษอื่นๆ เป็นปัจจัยร่วมทำให้มีผู้เสียชีวิต ซึ่งหากมีความสามารถที่จะออกมาได้และการดูแลปฐมพยาบาล ความสูญเสียก็อาจน้อยลง
ส่วนความคืบหน้าทางคดี พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร รักษาการแทนผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เปิดเผยว่า ตำรวจได้เรียกตัวนาย ณ พงษ์ สุขสงวน กรรมการผู้จัดการบริษัทเมก้า แพลนเน็ต จำกัด บริษัทผู้รับเหมาปรับเปลี่ยนระบบอัคคีภัย และนายอดิสร โฟดา ผู้บริหารบริษัท แม็ทเท็กลิ้ง ซึ่งเป็นบริษัทรับเหมาช่วงต่อ เข้าสอบปากคำและได้แจ้งข้อกล่าวหา กระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งศาลอนุญาตให้ประกันตัวในวงเงินคนละ 500,000 บาทและกำหนดให้รายงานตัวต่อศาลในวันที่ 2 พ.ค.2559 ซึ่งบริษัทเมก้า แพลเน็ต จำกัด ได้นัดหมายสื่อมวลชนแถลงรายละเอียดเกี่ยวกับการติตดั้งอุปกรณ์ระบบอัคคีภัยไพโรเจนในเวลา 10.00 น.วันนี้ (16 มี.ค.2559)