ลีลาการเขย่าส่วนผสมเครื่องดื่มเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่บาร์เทนเดอร์ใช้ทำเครื่องดื่ม ซึ่งสามารถพบเห็นได้ตามร้านอาหารหรือสถานประกอบการในยามค่ำคืน แต่คนทั่วไปยังไม่ค่อยรู้จักอาชีพนี้ดี และมักมองว่าเป็นเพียงการผสมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขายหรือที่รู้จักกันว่า "ค็อกเทล" แต่ในความจริงแล้ว บาร์เทนเดอร์ยังมีเมนูอื่นๆ ที่ไม่มีแอลกอฮอล์และเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ซึ่งคนต่างชาตินิยมเรียกว่า "ม็อกเทล"
น.ส.คนธวรรณ รักเจือเจริญยิ่ง อาจารย์พิเศษ ภาควิชาคหกรรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า ม็อกเทล หรือเครื่องดื่มน้ำผัก-ผลไม้ผสม เป็นการนำผักผลไม้สดมาแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่ม ผลไม้หลักที่นิยมใช้เป็นส่วนผสม ล้วนเป็นสิ่งที่มีอยู่ทั่วทุกจังหวัดของประเทศไทย เช่น ส้ม มะนาว มะพร้าว สับปะรด สะระแหน่ ทั้งหาง่ายและราคาถูก ผู้ประกอบการสามารถประหยัดต้นทุนวัตถุดิบได้มาก ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
ทั้งนี้ การทำม็อกเทลไม่จำเป็นต้องใช้ผลไม้สดที่มีผลสวยเสมอไปอาจจะใช้ผลสดที่มีผิวช้ำก็ได้ เพื่อเป็นการนำสิ่งที่เสียโอกาสในการสร้างรายได้ มาสร้างมูลค่าที่แพงกว่าของเดิม
สำหรับการลงทุนสำหรับผู้เริ่มประกอบการ ค่าอุปกรณ์ต่างๆ อยู่ที่หลักหมื่นต้นๆ ไม่ได้สูงอย่างที่หลายคนคิดไว้ เพียงเพราะยังไม่รู้แหล่งหาซื้ออุปกรณ์มากกว่า ส่วนเคล็ดลับความสำเร็จของธุรกิจบาร์เทนเดอร์ คือการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาฝีมือให้ชำนาญขึ้นเรื่อยๆ และการศึกษาข้อมูลที่ถูกต้อง โดยเฉพาะศิลปะของการเป็นบาร์เทนเดอร์
น.ส.คนธวรรณ กล่าวว่า ความต้องการม็อกเทลของผู้บริโภคมีมากขึ้น ส่งผลให้แนวโน้มอาชีพบาร์เทนเดอร์ในปัจจุบันกำลังได้รับความนิยม ขณะที่รัฐบาลไทยได้มีการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ เช่น ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท มีความรู้ความสามารถในวิชาชีพนี้มากขึ้นเช่นกัน เพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานไทยและเพิ่มศักยภาพ ดึงเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศ เพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นต่างชาติ
ส่วนปัญหาภัยแล้งที่ทำให้ผลไม้ราคาสูงขึ้นไม่ได้ปัญหาที่สร้างความเดือดร้อนกระทบกับอาชีพนี้ได้มากนัก เพราะจริงๆ แล้ว ม็อกเทลเป็นธุรกิจที่ใช้ผลไม้ในปริมาณไม่มาก แต่กลับสร้างรายได้ให้กับเจ้าของกิจการหรือผู้ประกอบอาชีพได้สูงเลยทีเดียว