ไทยพีบีเอสอธิบายภาพจำลองห้องเกิดเหตุภายในอาคารเอสซีบี ปาร์ค ธนาคารไทยพาณิชย์ ขณะที่วิศวกรเข้าไปตรวจสอบ พบว่ามีบันไดและสว่านวางอยู่ นอกจากนี้ยังพบการเจาะรูข้างผนังและเพดาน เพื่อวางท่อระบบดับเพลิงใหม่แบบไนโตรเจน อาจเป็นหลักฐานได้ว่ามีการวางระบบมากว่า 1 เดือน เนื่องจากมีฝุ่นจำนวนมาก
สำหรับระบบดับเพลิงแบบแอโรซอล หรือ ไพโรเจนก่อนทำงานจะมีตัวจับควัน 2 ตัว หากมีปริมาณฝุ่่นจำนวนมาก ตัวจับควันตัวแรกจะส่งสัญญาณไปกระตุ้นให้กระดิ่งทำงานเพื่อส่งเสียงเตือนให้ทราบ จากนั้นหากปริมาณฝุ่นหรือควันยังมีต่อเนื่อง ตัวจับควันตัวที่ 2 จะส่งสัญญาณไปที่แผงควบคุมทำให้ไฟกระพริบ พร้อมกับเสียงดัง เมื่อไฟกระพริบจะเริ่มนับถอยหลังทันที 60 วินาที ก่อนแอโรซอลจะทำงาน แต่ระบบดังกล่าวมีปุ่มควบคุมหน่วงเวลาให้นานขึ้นเพื่อให้คนหนีทัน และต้องกดภายใน 60 วินาที โดยติดตั้งไว้ที่ประตูทางออก
ทั้งนี้ ในวันเกิดเหตุมีเสียงดังและไฟกระพริบ แต่ไม่ผู้กดปุ่มหน่วงเวลาการทำงาน แอโรซอลจึงปล่อยสารดับเพลิงออกมาเต็มห้อง ในขณะที่ประตูนิรภัยต้องใช้การสแกนนิ้วจากด้านนอกเข้ามา รวมทั้งมีปุ่มกดจากประตูด้านใน แต่ไม่มีผู้ที่ใช้งานเป็น มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของธนาคารที่อยู่ในห้องพยายามโทรศัพท์ออกมาขอความช่วยเหลือครั้งแรกเวลา 21.08 น. และครั้งสุดท้าย 21.37 น. แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ต้องติดอยู่ในห้องนี้เกือบ 30 นาที
ดังนั้น สาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตอาจไม่ได้เกิดจากการขาดออกซิเจน แต่เป็นการหายใจเอาสารดับเพลิงที่เป็นผงฝุ่นละเอียดมีขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน เข้าไปมากกว่าร่างกายจะรับไหว แม้ออกซิเจนในห้องยังมีอยู่ แต่สารดับเพลิงมาปิดกั้น ทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ เลือดไปเลี้ยงสมองไม่ทันและเสียชีวิต
อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นหากทุกฝ่ายสื่อสารกันให้เข้าใจระบบอย่างรอบคอบ ซึ่งสอดคล้องกับที่บริษัทยอมรับว่า เจ้าหน้าที่บางส่วนไม่ได้ผ่านการฝึกอบรม ในขณะที่ผู้ควบคุมงานอาจจะไม่รู้กลไกของห้องนี้ และที่สำคัญระบบแอโรซอลไม่ได้ถูกปิดก่อนจะเข้าไปทำงาน