วันนี้ (20 มี.ค.2559) นายประยูร แสนแอ สมาชิกกลุ่มประมงพื้นบ้าน อ.เชียงคาน จ.เลย กล่าวถึงกรณีที่ทางการจีนประกาศจะปล่อยน้ำจากเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนบนเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยบรรเทาสถานการณ์ภัยแล้งในประเทศลุ่มแม่น้ำโขงว่า ขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นถึง 2 เมตร ทำให้น้ำท่วมพื้นที่หาดทรายริมน้ำในเขต อ.เชียงคาน ได้แก่ หาดไข่และแก่งคุดคู้ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง ซึ่งตามปกติบริเวณนี้จะแห้งในช่วงฤดูแล้ง และช่วงที่น้ำลดจะมีสาหร่ายแม่น้ำโขงที่เรียกว่า ไกหรือไคเกิดขึ้นตามหาดหิน แต่เมื่อน้ำในแม่น้ำโขงกลับเพิ่มขึ้นและไหลแรง ไกจึงหลุดออกมาติดแหอวนของชาวบ้าน
นายประยูรกล่าวว่าชาวประมงพื้นบ้านรู้สึกกังวลกับข่าวเรื่องเขื่อนจีนระบายน้ำ ซึ่งตามข่าวระบุว่าจะเปิดระบายน้ำไปจนถึงวันที่ 10 เม.ย.2559 เพราะการปล่อยน้ำจากเขื่อนในจีนจะทำให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างกระทันหัน ส่งกระทบต่อการหาปลาในแม่น้ำโขงของชาวประมงจำนวนมาก ซึ่งเฉพาะที่บ้านเหนือ อ.เชียงคาน จ.เลย มีคนหาปลาประมาณ 50 คน ชาวประมงอยากให้แม่น้ำโขงได้ไหลตามสภาพธรรมชาติแบบเดิมมากกว่า
"พวกเราก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ได้แต่ยอมรับกันไป ถึงแม้ว่าน้ำในแม่น้ำโขงจะเพิ่มขึ้นมากกลางหน้าแล้งแบบนี้ เราก็ยังต้องหาปลา ผมได้ยินว่าจะมีเขื่อนสานะคาม ที่สร้างกั้นน้ำโขงเป็นแห่งที่ 4 ใกล้ๆ อ.เชียงคาน คิดว่าอนาคตน่าจะลำบาก เพราะแม่น้ำโขงมีเขื่อนเต็มไปหมด" นายประยูรกล่าว
จากการลงพื้นที่สำรวจชุมชนของเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มน้ำโขงภาคอีสาน (คสข.) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าชาวบ้านที่หาดแห่ ต.น้ำก่ำ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ต่างวิตกกังวล กรณีที่น้ำในแม่น้ำโขงขึ้นลงผิดปกติ ซึ่งเกิดขึ้นในฤดูแล้งหลายปีที่ผ่านมา ผลที่เกิดขึ้นคือหาดทรายและพื้นที่ริมแม่น้ำโขงหายไป ร่องน้ำเปลี่ยน พื้นที่ปลูกผักริมโขงลดลง และกระทบต่อรายได้จากการท่องเที่ยวของชุมชน
คสข.รายงานว่าซึ่งในช่วงหน้าแล้ง คนท้องถิ่นจะตั้งร้านค้า ร้านอาหารและเครื่องดื่มที่ชายหาดริมแม่น้ำโขงซึ่งโผล่ขึ้นมาระหว่างเดือนธันวาคมถึงเมษายน มีรายได้รายละประมาณ 5 แสน- 1 ล้านบาท แต่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงมาก ขึ้นลงไม่เป็นไปตามฤดูกาลทำให้สูญเสียรายได้จากการทอ่งเที่ยว
เจ้าของร้านอาหารริมแม่น้ำโขงคนหนึ่งกล่าวว่า เพิ่งตั้งร้านเมื่อเดือนกุมภาพันธ์เนื่องจากน้ำโขงเพิ่งลดระดับ แต่พอรู้ข่าวการปล่อยน้ำของจีนอีกระลอกจนถึงเดือนเมษายน สร้างความวิตกกังวลอย่างมาก
"เราเคยวางแผนได้ว่าจะทำกิจการอะไรช่วงหน้าแล้งและหน้าฝน แต่ตอนนี้ออกแบบวางแผนไม่ได้เลย ขณะที่นักท่องเที่ยวก็บ่นว่าหาที่เที่ยวเล่นน้ำริมโขงช่วงสงกรานต์ได้ยาก แก่งกระเบา จ.มุกดาหาร ก็แทบร้าง เพราะเขารู้สึกว่าแม่น้ำโขงไม่ปลอดภัย น้ำขุ่น ไม่ใส ไม่น่าเล่น และราคาอาหารเครื่องดื่มก็แพง เพราะพ่อค้าแม่ค้าต้องลงทุนมากขึ้น ช่วงเวลาในการขายของน้อยลง เดือดร้อนไปตามๆ กัน" เจ้าของร้านอาหารระบุ
นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรงลุ่มน้ำโขง- ล้านนา จ.เชียงราย กล่าวว่าการที่เขื่อนจีนปล่อยน้ำลงมาในครั้งนี้ถือเป็นผลประโยชน์ของจีนโดยตรง เพราะเขื่อนได้ทั้งปั่นไฟฟ้าและระบายน้ำให้เรือจีนล่องลงมาค้าขายที่เชียงแสน ซึ่งเห็นชัดเจนแล้วว่าเวลานี้จีนสามารถใช้เขื่อน 6 แห่งควบคุมแม่น้ำโขงได้ทั้งหมด ขณะที่รัฐบาลประเทศท้ายน้ำยังอาจห่วงผลประโยชน์อื่นๆ จากประเทศจีน ยังคิดว่าจีนใจดี ไม่คิดถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อประชาชนริมแม่น้ำโขง การที่แม่น้ำโขงขึ้นท่วมกลางหน้าแล้งแบบนี้สิ่งที่เกิดคือผลกระทบต่อระบบนิเวศ ซึ่งกระทบถึงวิถีชีวิตท้องถิ่นที่สัมพันธ์กับแม่น้ำโขง สิทธิของชุมชนถูกริดรอนไปจนหมดสิ้น
"ตอนนี้ยังมีการเริ่มเตรียมการก่อสร้างเขื่อนปากแบง โดยบริษัทจีนและไทยจะสร้างกั้นแม่น้ำโขงที่ท้ายน้ำห่างจาก อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย เพียงประมาณ 100 กิโลเมตร เท่ากับว่าแม่น้ำโขงของประเทศไทย บริเวณ อ.เชียงแสน อ.เชียงของ อ.เวียงแก่น ต้องกลายเป็นพื้นที่ระหว่าง 2 เขื่อน คือเขื่อนปากแบงและเขื่อนจิงหง ที่เชียงรุ้ง ผมไม่แน่ใจว่าการที่จีนปล่อยน้ำโดยอ้างว่าเพื่อช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งครั้งนี้ พร้อมกับป่าวประกาศถึงผลดีของการสร้างเขื่อน เป็นเพราะเหตุที่ต้องการสร้างเขื่อนเพิ่มขึ้นในแม่น้ำโขงหรือไม่" นายสมเกียรติกล่าว
ด้านนายไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวถึงการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่น้ำโขง-ล้านช้างครั้งที่ 1 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 มี.ค.2559 ที่ประเทศจีนว่า ผู้ที่่น่าจะได้ประโยชน์จากการประชุมในครั้งนี้มากที่สุดก็คือกลุ่มทุน ส่วนคนที่เสียประโยชน์มากที่สุดคือ ชาวบ้าน เพราะคาดว่าการประชุมครั้งนี้จะมุ่งเน้นที่การผลักดันเพื่อให้กลุ่มทุนลงทุนง่ายขึ้น
นายไชยณรงค์กล่าวเพิ่มเติมว่า ยุทธศาสตร์ความร่วมมือแม่น้ำโขง-ล้านช้าง ที่จีนได้พยายามเป็นผู้นำนั้นคือการพยายามยึดกุมการเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้โดยเบ็ดเสร็จ ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงโดยมียูนนานเป็นประตู และใช้เขตปกครองตนเองมณฑลกวางสีเป็นประตูสู่อาเซียน ยกตัวอย่างการที่จีนได้พยายามสร้างอำนาจเบ็ดเสร็จเรื่องการจัดการแม่น้ำโขง ด้วยการสร้างเขื่อนต้นแม่น้ำโขง และปล่อยน้ำออกมาช่วงหน้าแล้งอย่างที่เป็นข่าวกระแสดังอยู่ตอนนี้ การปล่อยน้ำช่วงหน้าแล้งทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่แปลงเกษตรริมโขงของชาวบ้าน ท่วมไกหรือสาหร่ายของแม่น้ำโขง การกระทำนี้ถือว่าจีนได้ยึดอำนาจเบ็ดเสร็จไปแล้ว
นายไชยณรงค์เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับฟังความเห็นของชาวบ้านใน 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขงก่อนเดินทางไปร่วมประชุมยุทธศาสตร์ความร่วมมือแม่น้ำโขง-ล้านช้างที่จะประเทศจีน เพื่อทราบความต้องการที่แท้จริงของชาวบ้านในการจัดการแม่น้ำโขง
"ที่ผ่านมาความร่วมมือต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแม่น้ำโขงไม่ได้เป็นไปตามหลัก การการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง ประสบการณ์การพัฒนาลุ่มน้ำโขงที่ผ่านมามีแต่ยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำทาง เศรษฐกิจ และทำลายระบบเศรษฐกิจและระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมของประชาชนลุ่มน้ำโขง" นายไชยณรงค์ให้ความเห็น