วันนี้ (25 มี.ค.2559) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยสาเหตุที่ทางฝ่ายจีนไม่สามารถเข้ามาร่วมลงทุนในครั้งนี้ เพราะหากต้องร่วมลงทุนทั้งโครงการที่สูงถึง 500,000 ล้านบาท จีนขอแลกเปลี่ยนด้วยการให้สิทธิ์พัฒนาพื้นที่ 2 ข้างทางของการก่อสร้างเส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา และนครราชสีมา-หนองคาย ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งเงื่อนไขนี้ไม่ตรงกับข้อตกลงเดิม ที่เคยทำร่วมกันไว้ระหว่าง 2 ประเทศ
ดังนั้น ไทยจึงตัดสินใจพักเส้นทางช่วงที่เหลือกว่า 595 กิโลเมตรไว้ก่อน แต่ทางฝ่ายไทยก็ยังต้องใช้เทคโนโลยี ระบบราง ตัวรถและอาณัติสัญญาณจากจีนตามข้อตกลงเดิมที่เคยทำไว้
เส้นทางแรกที่ไทยตัดสินใจลงทุนเอง จะใช้ระบบราง 1.435 เมตร ซึ่งเป็นรถไฟความเร็วสูง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อมาขนส่งผู้โดยสารเป็นหลัก แต่ขณะนี้ราคาประเมินของเส้นทางแรกของทั้ง 2 ประเทศยังไม่ตรงกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีของฝ่ายไทยต้องการให้ปรับลดราคาลงมาให้ตรงตามความเหมาะสม คาดว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องงบประมาณไม่เกินเดือน ส.ค. - ก.ย.นี้ ทำให้แผนระยะเวลาในการก่อสร้างเลื่อนออกไปจากเดิมในเดือน พ.ค.นี้ แต่คงไม่เกิน 4 - 5 เดือนจากระยะเวลาเดิม
ส่วนแหล่งเงินกู้ในเส้นทางแรก ฝ่ายไทยจะลงทุนเองทั้งหมด ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ข้อมูลว่า สามารถจัดหาได้หลายวิธี เช่น การจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรืออาจใช้แหล่งเงินกู้ของฝ่ายจีนก็ได้ แต่ต้องเป็นอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมเท่านั้น