การฝึกช่วยผู้ป่วยปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นวิชาที่ยากและสำคัญที่นักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 3 ของวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นพรัตน์วชิระ ต้องเรียนให้เข้าใจเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วย ซึ่งไม่ต่างจากการฝึกประเมินคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่นักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 4 ของวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีกรุงเทพ ต้องจดจำสูตรคำนวนเพื่อหาค่าต่างๆของร่างกาย
กว่าจะเรียนจบเป็นพยาบาลวิชาชีพ นักศึกษาเหล่านี้ต้องใช้เวลาถึง 4 ปี ซึ่งการเรียนพยาบาลยากไม่แพ้การเรียนแพทย์ แต่สิ่งที่พวกเธอกังวลใจไม่ใช่เนื้อหาในตำรา แต่เป็นเรื่องการบรรจุเข้ารับข้าราชการหลังสำเร็จการศึกษา
"อยากที่รู้ว่าอาชีพพยาบาลเป็นอาชีพที่มีภาระหน้าที่ค่อนข้างเยอะมาก หากวันหนึ่งตัวเราแก่ลง แต่ความก้าวหน้าในอาชีพยังอยู่ที่เดิม อาจมีความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนงานให้เหมาะกับเรามากกว่า" มินตรา สามารถ นศ.พยาบาล กล่าว
ขณะที่ น.ส.เพียงดาว มูลพรหม นักศึกษาพยาบาล วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีกรุงเทพ เห็นว่า การผลิตพยาบาลออกมาจำนวนมากเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ควรแก้ที่ต้นเหตุว่าเป็นเพราะอะไรคนถึงไม่อยู่ ไม่ใช่การผลิตพยาบาลให้มีจำนวนมากขึ้นและก็ออกจากระบบมากขึ้นเช่นกัน
หากดูจากแผนการรับนักศึกษาพยาบาลภาพรวมทั้งประเทศจะเห็นว่าตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปี 2560 การผลิตพยาบาลในสังกัดมหาวิทยาลัยและสังกัดสถาบันพระบรมราชชนกรวมกัน จะผลิตพยาบาลได้ปีละประมาณเกือบ 7,000 คน แต่เมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนการได้รับบรรจุเป็นข้าราชการของกระทรวงสาธารณสุข ตามช่วงอายุปี 2558 จะเห็นว่านักศึกษาพยาบาลจบใหม่อายุตั้งแต่ 24-29 ปี ได้บรรจุเป็นข้าราชไม่ถึงครึ่ง นี่จึงอาจเป็นเหตุผลให้อัตราการสูญเสียกำลังคนในวิชาชีพพยาบาลสูงที่สุดในบรรดาวิชาชีพด้านสาธารณสุข คือพยาบาล 100 คน มีโอกาสลาออก 4 คน
ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขเร่งแก้ปัญหาขาดแคลนพยาบาลในระบบสุขภาพ ซึ่งอยู่ระหว่างหารือกับคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนเพื่อขอให้เพิ่มตำแหน่งข้าราชการปีละ 3,000 คน สำหรับบรรจุให้กับพยาบาลจบใหม่ในพื้นที่ห่างไกล พร้อมทั้งเสนอให้พยาบาลจบใหม่ที่มีอายุงาน 4 ปีขึ้นไปได้บรรจุเป็นข้าราชการทุกคน