หลังมีการเผยแพร่คลิปวิดีโอทางสื่อสังคมออนไลน์ เป็นภาพของรถจักรยานยนต์จำนวนหนึ่งจอดอออยู่บนสะพานภูมิพลหลังจากมีการออกกฎห้ามจักรยานยนต์ขึ้นสะพานและลงอุโมงค์เกือบทั่วกรุงเทพมหานคร ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบไม่ใช่เป็นการประท้วงกฎดังกล่าวของกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ แต่เหตุการณ์จริงคือผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์เห็นตำรวจดักรออยู่ที่ทางลง จึงจอดรอสะสมกันจำนวนมาก จนกระทั่งตำรวจเกรงว่าจะเกิดอันตราย เพราะมอเตอร์ไซต์สะสมอยู่บนสะพานมาก รถติด จึงปล่อยให้ขี่ลงมาอย่างที่เห็นในคลิปวิดีโอ
จากเหตุการณ์ดังกล่าว เมื่อดูลักษณะทางกายภาพของสะพานภูมิพลเป็นถนนที่ออกแบบไว้ 8 เลน ทั้งขาไปและกลับ รถที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นรถยนต์และรถบรรทุกจึงจำเป็นต้องใช้ความเร็วในการขับขี่ แต่ด้วยความสะดวกและรวดเร็ว รวมทั้งไม่เสียค่าใช้จ่าย ทำให้รถจักรยานยนต์ฝ่าฝืนขึ้นมาใช้บนสะพานภูมิพลกันเป็นจำนวนมาก แม้ว่าจะมีข้อกฎหมายห้ามไม่ให้รถจักรยานยนต์ใช้บริการก็ตาม
ที่ผ่านมาสะพานแห่งนี้เคยเกิดอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ เฉลี่ยแล้วประมาณ 10 ครั้งต่อเดือน ซึ่งสาเหตุของอุบัติเหตุมีการตั้งข้อสังเกตถึงการสร้างถนนไม่รองรับการใช้งานของรถจักรยานยนต์
นายศาศวัต ภูริภัสสรกุล ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารจัดการสะพานวงแหวนอุตสาหกรรม กรมทางหลวงชนบท ให้ข้อมูลว่าการก่อสร้างสะพานได้ทำไว้รองรับกับรถทุกชนิด ทั้งรถจักรยานยนต์ รถยนต์ และรถบรรทุก แต่จากกายภาพของสะพานที่มีความสูงจากพื้นน้ำถึง 50 เมตร ทำให้เป็นอุปสรรคในการขี่รถจักรยานยนต์ เนื่องจากความสูงดังกล่าวทำให้มีลมแรงที่มาจากทั้งอ่าวไทยและรถยนต์ที่วิ่งด้วยความเร็วสูง
การแก้ปัญหานี้กรมเจ้าท่าและกรมทางหลวงชนบท ได้เปิดให้บริการเรือข้ามฟากจากฝั่งพระประแดงไปถนนพระราม 3 แต่ก็ยังไม่สามารถรองรับรถจักรยานยนต์ที่จะมาใช้บริการได้ทั้งหมด เพราะมีเรือให้บริการเพียง 2 ลำ แต่ในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน มีรถมาใช้บริการจำนวนมาก และต้องเสียค่าใช้จ่ายคันละ 10 บาท รถจักรยานยนต์หลายคันก็ยังคงต้องใช้สะพานภูมิพลข้ามฝั่ง
ผู้ใช้บริการเรือข้ามฟากรายหนึ่งยอมรับว่า ก่อนหน้านี้เคยขี่รถจักรยานยนต์ขึ้นไปบนสะพานภูมิพล เพื่อข้ามไปยังถนนพระราม 3 เพราะมีความรวดเร็ว แต่บนสะพานมีลมกระโชกแรงและเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ แต่ปัจจุบันหันกลับมาใช้บริการเรือข้ามฟากแล้ว
ขณะที่ในวันนี้ (1 เม.ย.2559) เป็นวันที่สองที่มีคำสั่งห้ามให้รถจักรยานยนต์ขึ้นสะพานข้ามแยกและแม่น้ำรวม 39 สะพาน และอุโมงค์ลอดแยกอีก 6 อุโมงค์ แต่การสำรวจของทีมข่าว ยังพบรถจักรยานยนต์ฝ่าฝืนลงไปใช้อุโมค์ข้ามแยกวงเวียนหลักสี่ และสะพานข้ามแยกรัชโยธิน พ.ต.อ.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองผู้บังคับการตำรวจจราจร เปิดเผยว่า ข้อบังคับนี้มีผล 90 วัน ซึ่งผู้ที่ฝ่าฝืนก็จะมีโทษปรับสูงสุด 1,000 บาท แต่หากผู้ใช้รถจักรยานยนต์ได้รับผลกระทบจากข้อบังคับนี้ ก็สามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองได้ ซึ่งออกข้อบังคับดังกล่าวก็เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรและความปลอดภัยของผู้ขี่รถจักรยานยนต์
สำหรับผู้ที่ขี่รถจักรยานยนต์ขึ้นบนสะพานข้ามแยก สะพานข้ามแม่น้ำ รวมทั้งอุโมงค์ลอดแยกที่มีเครื่องหมายกำกับว่าห้ามใช้ทางเหล่านี้ หากเกิดอุบัติเหตุจะเกิดผลเสียกับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เอง เนื่องจากคู่กรณีไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบกับอุบัติเหตุดังกล่าวได้ เพราะถือว่าผู้ขี่รถจักรยานยนต์เป็นผู้ฝ่าฝืนขึ้นไปใช้บนทางที่มีข้อกำหนดห้ามใช้ แต่ก็ผู้ขี่รถจักรยานยนต์ต่างก็ให้เหตุผลว่าที่จำเป็นต้องฝ่าฝืน เนื่องจากประหยัดเวลาการเดินทาง และเรียกร้องว่ารถจักรยานยนต์ก็เสียภาษีเหมือนกับรถยนต์ทั่วไปจึงควรมีสิทธิ์ใช้ถนนเหมือนกัน