ประเทศไทยมีทางรถไฟยาว 4,043 กิโลเมตร มีจุดตัดทางรถไฟ 2,517 แห่ง ข้อมูลจากกระทรวงคมนาคมระบุว่า ในปี 2557 เกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟ 127 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 27 คน บาดเจ็บ 91 คน
จุดตัดทางรถไฟ 2,517 แห่งนี้ เป็นจุดตัดที่ได้รับอนุญาต 1,933 แห่ง และไม่ได้รับอนุญาตหรือ "ทางลักผ่าน" 584 แห่ง อยู่บนทางรถไฟสายใต้ 456 แห่ง สายเหนือ สายอีสานและสายตะวันออก 128 แห่ง อุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟกับถนนที่เกิดขึ้นมีสาเหตุเนื่องจากผู้ขับขี่ยานยนต์ประมาท ขาดวินัยจราจร และสภาพแวดล้อมเป็นอุปสรรค
ข้อมูล: สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม
เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.2558 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟตามข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมพิจารณาการขออนุญาตและการแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟกับถนน มีระยะเวลาการดำเนินการปี 2558-2560 เบิกจ่ายจากงบประมาณทำการของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และงบประมาณรายจ่ายประจำปีของ รฟท. กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ดังนี้
1.ทางลักผ่าน 584 แห่ง
- ระยะที่ 1 ในปีงบประมาณ 2558
ติดตั้งป้ายหยุด ป้ายรูปรถไฟ และสัญญาณเตือนไฟกระพริบตลอดเวลา เนินชะลอความเร็ว และป้ายเตือน 584 แห่ง แห่งละ 100,000 บาท วงเงิน 58,400,000 บาท
- ระยะที่ 2 ในปีงบประมาณ 2559
ติดตั้งสัญญาณจราจรไฟแดงวาบพร้อมเสียงเตือน ซึ่งทำงานด้วยระบบตรวจสอบขบวนรถไฟที่ระยะ 300 เมตรก่อนถึงจุดตัดผ่านแห่งละ 700,000 บาท วงเงิน 408,800,000 บาท
ตามแผน รฟท.จะสำรวจทางลักผ่านเพื่อทำเครื่องกั้น หากมีค่าคูณควบจราจรเกิน 10,000 คัน/ขบวน/วัน (ค่าคูณควบจราจร หมายถึง จำนวนขบวนรถไฟคูณกับจำนวนยานพาหนะผ่านทางในรอบ 24 ชั่วโมง) และขอความร่วมมือให้หน่วยงานเจ้าของพื้นที่ (ถนน) ติดตั้งป้ายจราจรและเส้นชะลอความเร็ว
2.จุดตัดที่ได้รับอนุญาต 1,933 แห่ง
- ระยะที่ 1 ในปีงบประมาณ 2558
-ทำเครื่องกั้น 130 แห่ง วงเงิน 403,437,000 บาท - ระยะที่ 2 ในปีงบประมาณ 2559
-ทำเครื่องกั้น 525 แห่ง
-ติดตั้งป้ายหยุด ป้ายรูปรถไฟ สัญญาณเตือนไฟกระพริบตลอดเวลา และเนินชะลอความเร็ว ในโครงการรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง (ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ, ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระช่วงนครปฐม-หัวหิน, ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น, ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร) วงเงิน 12,000,000 บาท
3.สร้างทางข้ามและทางลอดทางรถไฟ
ตามโครงการก่อสร้างทางข้ามและทางลอดทางรถไฟของกรมทางหลวงชนบทและกรมทางหลวงในปี 2558-2560
4.ห้ามไม่ให้เกิดจุดตัดทางรถไฟ (ทางลักผ่าน) เพิ่มขึ้น
ขอความร่วมมือกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานท้องถิ่น ติดตาม กำกับ
ดูแลไม่ให้เกิดจุดตัดทางรถไฟ (ทางลักผ่าน) เพิ่มขึ้น หากจำเป็นต้องมีจุดตัดทางรถไฟเพิ่มขึ้น ให้หน่วยงานท้องถิ่นที่เป็นเจ้าของพื้นที่รับผิดชอบดำเนินการตามมาตรฐานความปลอดภัยที่ รฟท.กำหนด