ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"แจสโมบายฯ" แจงกรณีทิ้งใบอนุญาต 4G อ้างไม่แจ้งก่อนเพราะ "กลัว กสทช.เสียหน้า"

เศรษฐกิจ
5 เม.ย. 59
18:36
411
Logo Thai PBS
"แจสโมบายฯ" แจงกรณีทิ้งใบอนุญาต 4G อ้างไม่แจ้งก่อนเพราะ "กลัว กสทช.เสียหน้า"
กสทช.เรียกผู้บริหารบริหารแจสโมบาย บรอดแบนด์ เข้าชี้แจงกรณีทิ้งใบอนุญาต 4G ชนะประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz โดย บ.แจสฯ ระบุว่าเป็นเพราะติดปัญหาข้อตกลงทางธุรกิจล่ม เตรียมเอกสารแบงก์การันตีไม่ทัน ระบุเหตุที่ไม่บอกปัญหาล่วงหน้าเพราะกลัว กสทช.เสียหน้า

วันนี้ (5 เม.ย.2559) นายพิชญ์ โพธารามิก ผู้บริหาร บริษัท แจสโมบาย บรอดแบนด์ เปิดเผยภายหลังเข้าชี้แจงคณะกรรมการตรวจสอบความเสียหายจากกรณีที่ บ.แจสโมบายฯ ทิ้งใบอนุญาต 4G คลื่น 900MHz ว่าได้ยืนยันกับคณะกรรมการตรวจสอบความเสียหาของ กสทช.ว่าบริษัทมีความตั้งใจตั้งแต่แรกในการเข้าร่วมประมูล 4G เพื่อให้เป็นรายที่ 4 ในตลาดโทรคมนาคม โดยได้ชี้แจงประเด็นนี้ ให้คณะกรรมการสอบความเสียหายรับทราบแล้ว

คณะกรรมการฯ สอบถามว่า บริษัท แจสโมบายฯ โดยนายพิชญ์ได้เข้าร่วมเคาะราคาประมูลคลื่น 1800MHz เมื่อเดือน พ.ย.2559 แต่เหตุใด คลื่น 900MHz จึงไม่ได้เข้าห้องเคาะราคาด้วย นายพิชญ์ชี้แจงว่าเป็นเรื่องกลยุทธ์ แผนงาน งบประมาณและการลงทุน ซึ่งได้ให้นโยบายกับทางทีมงานที่เข้าห้องเคาะราคาว่าให้สู้ราคาเต็มที่ได้ที่ 80,000 ล้านบาท หน้าที่ของทีมงานที่เข้าในห้องเคาะราคาคือ ให้เคาะราคาไปเริ่อยๆ จนได้ชนะประมูล และเป็นเรื่องที่ทราบอยู่แล้วว่าราคาจะสูง แต่อยู่ที่ว่าใครมีเพดานงบประมาณการเคาะราคาสูงกว่ากัน การที่นายพิชญ์ไม่ได้เข้าร่วมเคาะราคานั้นเป็นเรื่องของกลยุทธ์ในการแข่งขันล้วนๆ

ส่วนแหล่งเงินนั้น นายพิชญ์ได้ยืนยันว่า มีผู้สนับสนุน คือ บริษัทหัวเว่ยและธนาคารกรุงเทพ ซึ่งในส่วนของธนาคารกรุงเทพ ส่วนตัวได้หารือกับผู้บริหารระดับสูงของธนาคารซึ่งได้โทรศัพท์แจ้งนายพิชญ์ในนาทีสุดท้ายว่านายพิชญ์ต้องทำค้ำประกันส่วนตัวด้วย

"ธนาคารกรุงเทพกับบริษัทแจสโมบายฯ มีความสัมพันธ์ที่ดีมาตลอด เราทำงานด้วยกันมา 20 ปี ตั้งแต่รุ่นคุณพ่อผม มาถึงปัจจุบัน เรายังเป็นพันธมิตรที่ดี แต่ไม่โทษใคร ถือว่ามันเป็นเรื่องของบริษัท เรื่องของคณะกรรมการ ที่ทางแบงก์เขาต้องบอกมาอย่างนี้ที่ว่าผมต้องค้ำประกันส่วนตัว และข่าวร้ายแค่นี้ยังไม่พอ ยังต้องเชิญคุณพ่อผมมาค้ำประกันส่วนตัวด้วย นี่เป็นสิ่งที่ผมรู้สึกว่ามันไม่ได้อยู่ในแผนมาก่อน แล้วยิ่งดึงคุณพ่อผมเข้ามา มันยิ่งไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะคุณพ่ออายุมากแล้ว ผมจึงไม่สามารถตกลงในรายละเอียดได้ เอกสารต่างๆ มีหมด ชี้แจงได้และจะส่งเอกสารตามมาให้คณะกรรมการ ซึ่งนี่เป็นเหตุที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 ม.ค.2559 ทำให้เราหยุดการคุยกับแบงก์กรุงเทพไป และเป็นเหตุที่ว่าเราต้องหาวิธีอื่นในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ไม่ถึง 2 เดือน" นายพิชญ์ กล่าว

นายพิชญ์ชี้แจงเพิ่มเติมว่า หลังจากนั้นธนาคารไอซีพีซีได้ติดต่อมาเสนอทางเลือกว่า ถ้าบริษัท แจสโมบายฯ ได้พันธมิตรร่วมทุนจากประเทศจีนได้ ทางธนาคารก็พร้อมจะจัดการออกหลักทรัพย์ค้ำประกัน (แบงก์การันตี) ให้ เวลาผ่านมาจนก่อนถึงเทศกาลตรุษจีนเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ทางบริษัท แจสโมบายฯ ได้ส่งหนังสือพูดคุยกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น ไชนา เทเลคอม, ไชนา ยูนิคอม, แชร์ริง โมบาย จำนวน 3 ราย ได้มีการตอบโต้กลับมา ส่วนทาง บริษัท แซททีอี ได้นำเสนอพันธมิตรรายอื่นมาให้อีกราย ชื่อ บริษัท เซริโก้ (Cerieco) มาให้ ซึ่งเป็นบริษัทหลานของ บริษัท sinomach ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจใหญ่ของจีน ทางแจสโมยายฯ มีโอกาสคุยกันอยู่แต่สุดท้าย บริษัทมีเงินลงทุนให้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาทจึงต้องจบตรงนี้แม้ว่าเอกสาร สัญญาทุกอย่างมีครบหมดและมีการพูดคุยกันตลอด

นายพิชญ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงหลังสุดมีบริษัท ที่เป็นกองทุนซึ่งแนะนำโดย บริษัท ไอซีพีซี จากทางปักกิ่งประเทศจีน โดยทางกองทุนขอให้ไม่พูดชื่อ ซึ่งขณะนี้ บริษัท แจสโมบายฯ ได้ส่งข้อมูลไปให้ทางกสทช. และคณะกรรมการสอบความเสียหายแล้ว ซึ่งกองทุนนี้มีความพร้อมจะลงทุนประมาณ 3 หมื่นล้านบาทกับทางบริษัท แจสโมบายฯ ซึ่งพูดคุยกันได้เยอะและถือหุ้น 49% ซึ่งส่วนตัวคิดว่า เป็นการติดต่อทางธุรกิจที่ดีมากๆ ของบริษัทแจสโมบายฯ เพียงแต่ช่วงเวลาที่กระชั้นทำให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่สามารถทำเอกสารให้ได้ทันตามช่วงระยะเวลา ที่กสทช. กำหนดคือภายในวันที่ 21 มีนาคม 2559 ซึ่งเป็นเหตุผลที่บริษัท แจสโมบายฯ ได้แจ้งให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยรับทราบด้วยและได้ชี้แจงกรรมการสอบสวนวันนี้ (5 เม.ย.) ด้วย

ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่า บริษัท แจสโมบายฯ จ่ายปันผล 30 สตางค์ และประกาศซื้อหุ้น "JAS" คืน 6,000 ล้านบาทนั้น นายพิชญ์ ชี้แจง ว่า เรื่องนี้ เป็นการจ่ายเงินปันผลของผลประกอบการของแจส โมบาย ในช่วงปีที่ผ่านมาซึ่งได้กำไรสูง

"ส่วนเรื่อง 4G ถ้าบริษัททำสำเร็จจะเป็นผลดีต่อผู้ถือระยะยาว ซึ่งทุกอย่างตรงไปตรงมา ไม่ได้มีอะไรพิศดาร ที่ผ่านมายืนยันว่าเราจะไม่เพิ่มทุนที่แจส และนี่เป็นสิ่งที่เรายืนยันว่าไม่ได้ทำ และพอจบแบบนี้ เราก็เดินหน้าต่อ มีเป้าหมายรุกธุรกิจบรอดแบนด์ต่อ และเป็นสิ่งที่ได้พูดคุยกับคณะกรรมการสอบไปหมดแล้ว" นายพิชญ์กล่าว

ส่วนประเด็นที่ว่า เหตุใดบริษัทแจส โมบาย ไม่ชี้แจง กสทช. ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงระยเวลา 90 วัน ที่มีเวลาจ่ายค่าประมูล นายพิชญ์ระบุว่า ขณะนั้นบริษัทยังไม่แน่ใจว่าการเจรจากับพันธมิตรจะเกิดปัญหาขึ้นหรือไม่ และคิดว่าที่สุดแล้ว การร่วมกับพันธมิตรจะไม่มีปัญหาจึงตัดสินใจไม่บอก กสทช.เพราะอยู่ในจุดที่ไม่สามารถบอกอะไรได้ เพราะการเจรจายังไม่จบ

"เราไม่กล้าบอก กสทช. ว่า วันที่ 21 มี.ค.จะเจรจาจบหรือไม่จบ เพราะผมก็ไม่รู้ แต่เราว่ามันมีโอกาส ถ้าบอกว่าจะจบ แต่ถึงเวลาแล้วไม่จบ กสทช. ก็จะเสียหน้าได้ ถ้าบอกอีกอย่างก็เสียหน้าอีกอย่าง เราลุ้นกันนาทีสุดท้าย ทุกอย่างมันเป็นเรื่องธุรกิจ จะมาบอก กสทช. วันสุดท้ายหรือไม่บอก แต่สุดท้ายถ้าทำไม่ได้ ก็เสียหน้ากัน"

ผู้บริหารแจสฯ ยังไม่ตัดสินใจว่า อนาคตจะเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่อื่นๆ กับทาง กสทช. หรือไม่ พร้อมปฏิเสธกรณีข้อกล่าวหาเรื่องบริษัทปั่นราคา นายพิชญ์กล่าวพร้อมกับเดินทางกลับทันที

ข่าวที่เกี่ยวข้อง