วันนี้ (7 เม.ย.2559) นายอำพล วงศ์ศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค อธิบายวิธีการทดสอบเบื้องต้น ว่าแป้งที่ประชาชนซื้อมาเป็นดินสอพองจริงหรือไม่ ด้วยการนำน้ำมะนาวสดหยดลงในแป้ง หากเกิดการฟองฟู่ แสดงว่าเป็นดินสอพองซึ่งมีส่วนผสมของแคลเซียมคาร์บอเนต แต่หากไม่เกิดปฏิกริยาใดๆ แสดงว่าเป็นยิปซั่ม โดยพบว่าขณะนี้มีการขายควบคู่กับแป้งดินสอพอง เนื่องจากมีลักษณะภายนอกที่อัดเป็นเม็ดสีขาวคล้ายกับดินสอพอง ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดและเลือกซื้อยิปซั่มไปปะแป้งเล่นสงกรานต์ ซึ่งอันตรายต่อผิวหนังและอาจทำให้เป็นมะเร็งปอด อย่างไรก็ตาม การใช้แป้งดินสอพองในปริมาณมากอาจส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจและหากมีการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อบริเวณผิวหนัง รวมทั้งการผสมสีทาเฟอร์นิเจอร์ในดินสอพอง
ภญ.สุมาลี พรกิจประสาน ผู้อำนวยการสำนักควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แนะนำให้เลือกซื้อแป้งดินสอพองในบรรจุภัณฑ์ที่มิดชิด มีฉลากแสดงชื่อสินค้า รายละเอียดของส่วนประกอบ สรรพคุณ วิธีการใช้ และแหล่งผลิตที่ชัดเจน
ขณะที่ นายสมยศ หลำวรรณะ ประธานกลุ่มผลิตภัณฑ์แป้งร่ำ ต.นางลิ้นจี่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ยืนยันว่า ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นไม่ใช่ยิปซั่ม แต่เป็นแป้งร่ำที่ได้จากการทำเกลือจืดตามภูมิปัญญาชาวบ้าน ไม่เป็นอันตรายและได้รับการรับรองจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจะนำตัวอย่างผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจสอบยืนยันว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นอันตรายจริงหรือไม่ และหลังจากนี้จะร่วมกับเขตพื้นที่ต่างๆ ตรวจสอบการจำหน่ายแป้งอย่างเข้มงวด หากพบการจำหน่ายแป้งที่มีอันตรายจะมีความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 271 ว่าด้วยการปลอมแปลงสินค้า มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ