ครอบครัวศรีคะโชติยังคงพยายามเดินทางเรียกร้องความยุติธรรมให้กับนายณัฐพงศ์ ศรีคะโชติ หรือ อาร์ม บุตรชายอายุ 19 ปีซึ่งถูกตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองฉะเชิงเทรา มารับตัวจากบ้านกลางดึก เมื่อเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว (2558) โดยอ้างว่า ต้องการพาไปตรวจเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งจนถึงขณะนี้เป็นเวลา 5 เดือนกว่า ที่ยังไม่พบเบาะแส
เช่นเดียวครอบครัว นายพอละจี รักจงเจริญ (บิลลี่) ที่ยังมีกิจกรรมในการรำลึกถึงการหายไปของนายบิลลี่ ซึ่งครบรอบ 2 ปีแล้ว แม้ว่า ครั้งสุดท้าย นายบิลลี่ จะอยู่ใน ความควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่ทราบชะตากรรมของนายบิลลี่
นางอังคณา นีละไพจิตร หนึ่งในในฐานะผู้เสียหาย ซึ่งสามีเธอเป็นบุคคลหนึ่งที่ถูกบังคับให้สูญหาย ยืนยัน การบังคับบุคคลสูญหายเกิดขึ้นมานานและประเทศไทยยังขาดการป้องกันคุ้มครองบุคคลสูญหาย ซึ่งกฎหมายนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณายังไม่ผลบังคับใช้จึงเป็นช่องทางที่เกิดการปกปิดอำพรางการกระทำผิดได้ง่าย
แม้ว่า กระทรวงยุติธรรมจัดตั้งศูนย์พิสูจน์บุคคลนิรนามขึ้นมา เพื่อตรวจสอบบุคคลสูญหายแต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการดูแลโดยตรงและควรมีการตั้งคณะกรรมการจากองค์กรอิสระ หรือ ผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญการพิสูจน์โครงกระดูกอย่างมีระบบซึ่งจะสามารถพิสูจน์ได้ว่า โครงกระดูกน่าจะเสียชีวิตมาจากไหนจะต้องมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมตรวจสอบที่เกิดเหตุ เพื่อเก็บหลักฐาน จนนำไปสู่การหาผู้กระทำผิดได้
พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า การตรวจพิสูจน์โครงกระดูกจะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง เพื่อความถูกต้องแม่นยำ เพราะส่วนใหญ่ที่เคยเข้าตรวจสอบศพนิรนามจะต้องดูสภาพแวดล้อมในการประเมินหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพื่อประกอบด้วย ที่สำคัญคือ แม้ว่าจะมีศูนย์พิสูจน์บุคคลนิรนามขึ้นมาแล้ว แต่ยังพบว่า มีศพนิรนามกว่า 10,000 ศพที่ยังไม่มีการตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล
สำหรับหน้าที่หลักของศูนย์พิสูจน์บุคคลนิรนาม คือรับแจ้งบุคคลสูญหายและศพนิรนามทั่วประเทศ ตรวจพิสูจน์ศพนิรนาม ตรวจสถานที่เกิดเหตุ เพื่อรวบรวมพยานหลักฐาน ตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล จัดทำฐานข้อมูลบุคคลสูญหาย เป็นต้น