ผู้ถูกฟ้องในคดีนี้ ได้แก่ กองบัญชาการตำรวจนครบาล กรุงเทพมหานคร และกรมทางหลวง ซึ่งศาลรับคำฟ้องแล้ว แต่ศาลได้ยกคำขอให้ไต่สวนฉุกเฉินเนื่องจากเห็นว่ายังไม่มีเหตุจำเป็น ส่วนการขอทุเลาการบังคับตามประกาศพิพาท ศาลจะดำเนินการตามรูปคดีโดยเร่งด่วน
ทั้งนี้ ข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร (ชั่วคราว) ว่าด้วยการห้ามรถบางชนิดและล้อเลื่อนลากเข็ญ เดินบนสะพานข้ามทางร่วมทางแยก และในอุโมงค์ลอดทางร่วมทางแยก พ.ศ.2559 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 30 มี.ค.2559 หากฝ่าฝืนมีโทษปรับตั้งแต่ 500-1,000 บาท ข้อบังคับนี้ห้ามรถจักรยานยนต์ใช้สะพาน 39 แห่ง และลงอุโมงค์ 6 แห่ง ในกรุงเทพฯ รวมถึงสะพานภูมิพล
นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงษ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมกล่าวว่า ข้อบังคับฉบับนี้เป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารระบุว่า ข้อบังคับนี้จะมีผลบังคับใช้ได้ต้องลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อน
นายโดม เผือกขจี ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์กล่าวว่าข้อบังคับนี้ส่งผลกระทบต่อประชาชน
"การจะออกคำสั่งอะไรมาก็แล้วแต่ต้องมีการศึกษาก่อน ถ้าไม่ศึกษาไม่เป็นไร แต่ถ้าออกมาแล้วมีผลกระทบต่อประชาชนอีกฝั่งหนึ่งทันที เจ้าหน้าที่ของรัฐสมควรจะต้องทบทวน แต่ทางผู้บัญชาการตำรวจนครบาลออกมาประกาศทันทีว่าจะไม่มีการทบทวน ยิ่งทำให้เรามีความรู้สึกว่าประชาชนผู้ใช้รถจักรยานยานยนต์ 3.3 ล้านคนในกรุงเทพฯ ไปอยู่ที่ไหนในสารบบของการบริการประชาชน" นายโดมกล่าว
นอกจากนี้ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ยังเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกแบบเลนสำหรับรถจักรยานยนต์โดยเฉพาะ