ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ในสาธารณรัฐไวมาร์" งานเขียนแนวประวัติศาสตร์เรื่องแรกของ "ภาณุ ตรัยเวช"

ศิลปะ-บันเทิง
27 เม.ย. 59
21:45
511
Logo Thai PBS
"ในสาธารณรัฐไวมาร์" งานเขียนแนวประวัติศาสตร์เรื่องแรกของ "ภาณุ ตรัยเวช"
สร้างชื่อจากนิยายและเรื่องสั้นที่เข้าชิงซีไรต์ถึง 2 ครั้ง หากความสนใจและบ่มเพาะความรู้เฉพาะทางด้านประวัติศาตร์เยอรมัน ก็ทำให้ "ภาณุ ตรัยเวช" เลือกบอกเล่าอดีตที่เลือนลางของสาธารณรัฐไวมาร์ สร้างงานเขียนแนวประวัติศาสตร์เรื่องแรก

การได้ประลองความคิดพิชิตคู่แข่งเพื่อวางแผนสร้างโครงข่ายรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในเกมกระดานรัสเซียน เรลโรด คือความท้าทายทุกครั้งเมื่อนักเขียนหนุ่ม "ภาณุ ตรัยเวช" ได้เดินหมากในเกมโปรด ทั้งยังตรงกับความสนใจด้านประวัติศาสตร์ เพราะปูเนื้อหาอ้างอิงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่การขนส่งระบบรางคือสิ่งที่มีส่วนช่วยให้รัสเซียกลายเป็นมหาอำนาจ แม้เส้นทางชีวิตสายหลักคืออาจารย์ด้านอุตุนิยมวิทยา ใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์พยากรณ์สภาพอากาศ หากเพื่อเข้าใจและอธิบายปรากฎการณ์ทางสังคม ภาณุเชื่อว่าเครื่องมืออย่างการเรียนรู้จากอดีต คือสิ่งจำเป็น นี่คือที่มางานเขียนเล่าถึงประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัยอย่าง หนังสือคดีดาบลาวยาวแดง หรือเล่มล่าสุดที่พูดถึงประวัติศาสตร์ยุคสงครามโลกอย่างในสาธารณรัฐไวร์มาร์ ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

 

"ประวัติศาสตร์คือคู่มือทางสังคมอย่างหนึ่งที่ช่วยให้เรารู้อะไร กำลังจะเกิดอะไร เกิดอะไรเพราะอะไร ต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นอีก บางทีเราไม่รู้หรอกว่าปัจจุบันเป็นอย่างไร หากเรากลับไปศึกษาประวัติศาสตร์มากขึ้น จะทำให้เริ่มมองเห็น ค่อยๆ ทำความเข้าใจทีละนิด นั่นคือ การไม่รู้ประวัติศาสตร์ก็เหมือนกับอยู่ในห้องมืด คือไม่รู้จะเกิดอะไร และอะไรจะเกิดขึ้นต่อ" ภาณุกล่าวถึง ผลงานเขียนแนวประวัติศาสตร์เล่มแรกของเขา

การค้นพบทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอสไตน์ นักวิยาศาสตร์ชื่อก้องหรืองานออกแบบที่เน้นความเรียบง่ายในสไตล์บาวเฮ้าส์ โดยวาลเธอร์ โกรพิอุส ผู้ปฏิวัติอุตสาหกรรมออกแบบในศตวรรษที่19 คือส่วนหนึ่งของความก้าวหน้าในงานศิลป์และวิทยาการในสาธารรัฐไวมาร์ ช่วงหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของเยอรมันที่ลางเลือนจากความทรงจำของผู้คน จุดประกายความสนใจให้ภาณุถ่ายทอดช่วงรอยต่อก่อนการขึ้นสู่อำนาจของจอมเผด็จการฮิตเลอร์ ผู้เปลี่ยนดินแดนที่รุ่มรวยด้วยศิลปวัฒนธรรมเป็นจักรวรรดิแห่งสงคราม เป็นงานแนวประวัติศาสตร์เรื่องแรกที่ใช้กลวิธีแบบนิยายในการเล่าเรื่อง

 

หนังสือ "ในสาธารณรัฐไวมาร์ ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง" ภาณุต้องค้นคว้าจากหนังสือนับร้อยเล่ม เพื่อบอกเล่าถึงเยอรมันในช่วง14ปี ซึ่งหลายก็ซื้อสะสมไว้นานแล้ว ภาณุบอกว่า ในสาธารณรัฐไวมาร์ ไม่อยากเรียกว่าเป็นหนังสือวิชาการหรือหนังสือประวัติศาสตร์ ด้วยเหตุว่ากลวิธีในการเขียนยังเน้นการเร้าอารมณ์ในรูปแบบนิยายอยู่มาก

"ยังรู้สึกว่าตัวเองมาจากสายนิยาย เรื่องแต่ง เวลาเขียนเรื่องนี้ พยายามใช้เทคนิคของเรื่องแต่งมากกว่า ในที่นี้มีการเล่าเรื่องผ่านตัวละคร พยายามจับเน้นประเด็นสร้างความขัดแย้ง มีดราม่า มีเรื่องให้คนดูลุ้น มีการสลับฉาก เอาตัวร้าย ผลัดตัวเอกตัวดีเข้ามา ยังมีเทคนิคการเร้าอารมณ์แบบการเขียนนิยายอยู่มาก"

ต้นทุนจากการอ่านวรรณกรรมเยอรมันของนักเขียนชื่อก้องอย่าง Hermann Hesse ของ Thomas Mann ช่วยเปิดโลกทัศน์ ต่อยอดให้ภาณุโลดแล่นในวงการน้ำหมึก จนมีนิยายและเรื่องสั้นอย่าง“เด็กกำพร้าแห่งสรวงสวรรค์” และ "วรรณกรรมตกสระ" เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์มาแล้ว หากในวันนี้ที่เลือกสร้างสรรค์งานแนวประวัติศาสตร์ นักเขียนหนุ่มก็มุ่งหวังให้เป็นคู่มือทางสังคม ให้ผู้คนได้เรียนรู้บทเรียนจากอดีต

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง