สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.พิษณุโลก สำรวจความเสียหายทรัพย์สินและอาคารบ้านเรือน หลังเกิดพายุลูกเห็บและลมพัดกระหน่ำอย่างรุนแรงและมีฝนตก ในหมู่บ้านต.นาบัว อ.นครไทย จ.พิษณุโลก ทำให้ต้นไม้หักโค่นทับบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย 28 หลังคาเรือน ขณะที่ไม่พบว่ามีชาวบ้านได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต รวมถึงพื้นที่ทางการเกษตรส่วนก็ไม่ได้รับความเสียหายเช่นกัน ด้านองค์การบริหารส่วน ต.นาบัวจะเร่งดำเนินการเข้าซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชนเพื่อช่วยเหลือในเบื้องต้นต่อไป
ส่วนที่ จ.สงขลา พายุฤดูร้อนพัดถล่มบ้านเรือนประชาชนอย่างรุนแรง ในพื้นที่ ต.ทุ่งหมอ อ.สะเดา ซึ่งมีบ้านเรือนเสียหาย 5 หลัง โดยเฉพาะบ้านของนางกอบ อ่อนแก้ว ได้รับความเสียหายหนักที่สุด โดยโรงรถพังเสียหาย ทับรถยนต์กระบะ 2 คัน และรถจักรยานยนต์อีก 3 คัน แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ส่วนบ้านอีก 4 หลังได้รับความเสียหายบริเวณหลังคาที่ถูกลมพัดหลุดลอยไปบางส่วน ขณะที่ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 ลงสำรวจความเสียหายของบ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบจากพายุพัดถล่มในครั้งนี้เพื่อรายงานไปยัง อ.สะเดาและให้การช่วยเหลือเยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบต่อไป
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่าได้ประสาน 37 จังหวัดทั่วประเทศเตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อนพัดกระหน่ำอีกระลอกระหว่างวันที่ 28 เม.ย. -1 พ.ค.นี้ หลังกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า บริเวณด้านตะวันออกของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกและภาคกลาง จะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นบางแห่ง ซึ่งทำให้บริเวณดังกล่าวเกิดพายุฤดูร้อน สภาวะอากาศแปรปรวน มีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่ ซึ่งตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.ถึงปัจจุบัน มีจังหวัดได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อนจำนวน 27 จังหวัด 117 อำเภอ 223 ตำบล 483 หมู่บ้าน บ้านเรือนได้รับความเสียหายจำนวน 5,059 หลัง ผู้เสียชีวิตจำนวน 4 คน
ขณะที่วิกฤตภัยแล้งยังส่งผลต่อเนื่องกับเกษตรกรผู้ปลูกแตงโมน้ำหยดในพื้นที่ หมู่ที่ 8 ต.พนมเศษ อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ ที่ต้องปล่อยให้ผลผลิตที่ปลูกไว้กว่า 30 ไร่ แห้งตาย เนื่องจากไม่สามารถสูบน้ำจากคลองสาธารณะที่เชื่อมต่อกับบึงบอระเพ็ดที่แห้งขอดขึ้นมาใช้ได้ หลังคลองดังกล่าวประสบกับปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรงมานานหลายเดือน
ขณะที่นายจำนง คุ้มนุ่น เกษตรกรผู้ปลูกแตงโมในพื้นที่ ระบุว่า แม้ว่าแตงโมระบบน้ำหยดจะใช้น้ำน้อย แต่ในพื้นที่ประสบกับปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรง ไม่มีน้ำมาใช้กับผลผลิตเลย ประกอบกับช่วงนี้สภาพอากาศที่ร้อนจัด ทำให้แตงโมที่ปลูกไว้ ได้รับความเสียหาย นอกจากนี้เกษตรกรหลายรายที่ใช้น้ำจากคลองสาธารณะดังกล่าว ต่างก็ประสบกับปัญหาภัยแล้งไม่มีน้ำในการทำการเกษตรเช่นกัน