ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

มติสนช.เอกฉันท์เพิ่มโทษพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ตั้งกก.3 คนลงโทษปรับไม่ต้องส่งศาล

การเมือง
29 เม.ย. 59
09:32
291
Logo Thai PBS
มติสนช.เอกฉันท์เพิ่มโทษพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ตั้งกก.3 คนลงโทษปรับไม่ต้องส่งศาล
มติสนช.เอกฉันท์ ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.... เพิ่มโทษผู้กระทำผิด ตั้งกฎใครส่งข้อมูล-อีเมลสร้างความรำคาญ ถูกปรับเพิ่ม 2 แสนบาท สมาชิกรุมท้วงเนื้อหาโทษรุนแรงเกินเหตุ ก่อนให้ความเห็นชอบในวาระรับหลักการ

วานนี้ (28 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสรายงานว่า ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่...) พ.ศ....ตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ปี 2550 ให้ทันต่อรูปแบบการกระทำผิดที่ซับซ้อนมากขึ้น ตามพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จำนวน 19 มาตรา มีสาระสำคัญคือ การเพิ่มเติมฐานความผิดและกำหนดโทษผู้ทำความผิดให้รุนแรงขึ้น อาทิ การส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้อื่น โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้รับบอกเลิก หรือปฏิเสธการตอบรับได้ อันก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้รับ ต้องระวางโทษไม่เกิน 200,000 บาท กรณีการนำเข้าสู่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือเผยแพร่ส่งต่อข้อมูลอันเป็นเท็จ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือเกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชนตลอดจนข้อมูลลักษณะลามก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท

ส่วนกรณีการตัดต่อภาพอันก่อให้เกิดความเสียหาย เช่น เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท นอกจากนี้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ยังกำหนดให้มีคณะกรรมการที่มีอำนาจเปรียบเทียบความผิดตามร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ 3 คน โดย 1 ในนั้นจะต้องเป็นพนักงานสอบสวน ซึ่งคณะกรรมการนี้จะมีอำนาจสั่งปรับได้ โดยไม่ต้องนำคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาล และถือเป็นที่สิ้นสุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ยังมีสมาชิกอภิปรายถึงกรณีการส่งข้อมูลในลักษณะก่อความเดือดร้อนรำคาญ จะมีเกณฑ์กำหนดอย่างไร เพราะความรำคาญของแต่ละคนไม่เท่ากัน และการส่งข้อมูลลักษณะดังกล่าวไม่น่าจะทำให้เกิดผลเสียหายถึงขั้นมีโทษถูกปรับเงิน 2 แสนบาท ส่วนข้อห้ามเผยแพร่ข้อมูลที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนถือเป็นความหมายกว้างมาก มีความเปราะบาง อาจถูกตีความในลักษณะละเมิดสิทธิมนุษยชนได้

ต่อมาหลังจากสมาชิกสนช.อภิปรายแล้ว ที่ประชุมจึงพิจารณาการแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยมีมติเอกฉันท์ 160 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง