ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ทหารคุมตัว 8 ผู้ต้องหาผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฝากขังผลัดแรกวันนี้

การเมือง
29 เม.ย. 59
10:34
841
Logo Thai PBS
ทหารคุมตัว 8 ผู้ต้องหาผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฝากขังผลัดแรกวันนี้
ทหารคุมตัว 8 ผู้ต้องหาผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฝากขังผลัดแรกวันนี้ (29 เม.ย.) ชี้พฤติกรรมเข้าข่ายยุงยง ปลุกปั่น ผ่านสื่อออนไลน์ เชื่อมีผู้บงการอยู่เบื้องหลัง เตรียมแจ้งข้อหาเพิ่มกับ 2 ใน 8 คน ฐานกระทำความผิดตาม ม.112 ด้านทนายเตรียมยื่นประกันตัว

วันนี้ ( 29 เม.ย.2559 ) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารใช้อำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) ควบคุมตัวผู้ต้องหามีพฤติกรรมกระทำผิดในข้อหาผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 โดยเจ้าหน้าที่ได้ติดตามพฤติกรรมและมีข้อมูลในการร่วมกันกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หลังจากนำตัวทั้งหมดมาสอบถามและพูดคุยทั้งหมดให้การรับสารภาพ ซึ่งเมื่อวันที่ 27 เม.ย. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย คสช.ได้เดินทางเข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามกับผู้ต้องหา 8 คน

กลุ่มผู้ต้องหา 8 คน ถูกเจ้าหน้าที่กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยเข้าควบคุมตัวไว้ตามหมายจับ ซึ่งพนักงานสอบสวน ระบุว่า พฤติกรรมของคนกลุ่มนี้มีทั้งหมด 10 คน เข้าข่าย ยุงยง ปลุกปั่น ผ่านสื่อออนไลน์ โดยประกอบไปด้วยผู้สั่งการ ผู้จัดจ้างและผู้ดูแลเว็บเพจ ซึ่งตำรวจติดตามควบคุมตัวได้ทั้งหมด 9 คน แต่ได้ปล่อยตัวไปแล้ว เมื่อคืนนี้ 1 คน ขณะที่ผู้โพสต์ข้อความอีก 1 คน อาศัยอยู่ต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม 2 ใน 8 ผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมตัว คือ นายหฤษฏ์ มหาทน และนางณัฏฐิกา วรธันยวิชญ์ โดยเจ้าหน้าที่พบว่ามีประวัติการสนทนาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ที่เข้าข่ายความผิดมาตรา 112 ซึ่งอาจมีการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมอีก

พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาไม่ใช่การกระทำในลักษณะของบุคคลแต่เป็นขบวนการ พฤติกรรมการโพสต์ข้อมูลผ่านโซเชียลมีหลักฐานปรากฏชัดเจน เชื่อมีบุคคลอยู่เบื้องหลัง ส่วนกรณีที่องค์กรนิรโทษกรรมสากล หรือ แอมแนสตี้ เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ต้องหาเห็นว่า องค์กรดังกล่าวเป็นองค์กรที่อยู่ในต่างประเทศไม่ได้เข้ามาสัมผัสข้อเท็จจริงเพียงพอ และได้ข้อมูลมาไม่ครบถ้วน คสช. ไม่รู้สึกกังวลเพราะเป็นเพียงบางองค์กรเท่านั้นไม่ใช่ทั้งหมด

ส่วนกรณีมีการตั้งคำถามถึงแนวปฏิบัติที่สามารถทำได้และทำไม่ได้ ระหว่างที่กฎหมายออกเสียงประชามติบังคับใช้ โดยเฉพาะประเด็นการแสดงความเห็นผ่านสื่อออนไลน์ วันนี้ (29 เม.ย.) คณะกรรมการการเลือกตั้งจะแถลงแนวปฏิบัติที่ชัดเจนอีกครั้ง

นอกจากนี้ กกต. ยังได้ออกประกาศ 4 ฉบับเกี่ยวกับการลงประชามติ ประกอบด้วย 1.ประกาศเรื่อง กำหนดวัน เวลา ยื่นคำขอลงทะเบียนใช้สิทธิลงคะแนนออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัด 2.วิธีการยื่นคำขอลงทะเบียนใช้สิทธิลงคะแนนออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดทางอินเทอร์เน็ต 3.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการออกเสียง กรณีให้มีการใช้เครื่องอ่านบัตรประจำตัวประชาชนและประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการออกเสียงประชามติ สำหรับคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง