ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ตำรวจเผยเหตุแหล่งผลิตพลุระเบิด รับจ้างผลิตพลุโดยไม่ได้รับอนุญาต

อาชญากรรม
6 พ.ค. 59
12:47
377
Logo Thai PBS
ตำรวจเผยเหตุแหล่งผลิตพลุระเบิด รับจ้างผลิตพลุโดยไม่ได้รับอนุญาต
คืบหน้าเหตุแหล่งผลิตพลุระเบิด จ.สุพรรณบุรี ตรวจสอบพบว่าผลิตพลุ ประทัด ในพื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาต ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งติดตามนายจ้าง

วันนี้ (6 พ.ค.2559) พ.ต.อ.ชัยรัตน์ ทิพยจันทร์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุพรรณบุรี เปิดเผยว่า สถานที่เกิดเหตุเป็นการลักลอบผลิตประทัด เพื่อนำไปจำหน่ายให้กับชาวนาจุดไล่สัตว์ที่เข้ามาในแปลงเกษตร ส่วนเจ้าของหรือนายทุนเบื้องต้นมีข้อมูลว่าอยู่ใกล้กับที่เกิดเหตุ และช่วงปลาย มี.ค.ที่ผ่านมา เคยถูกตำรวจจับดำเนินคดีเกี่ยวกับการผลิตพลุดอกไม้ไฟมาแล้ว 1 ครั้ง ก่อนย้ายมาทำที่บ้านหลังนี้

จากการสอบถามชาวบ้านที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงระบุว่า ไม่ทราบมาก่อนว่าที่นี่เป็นโรงงานผลิตประทัดและพลุดอกไม้ไฟ ทั้งนี้ยอมรับว่าเกษตรกรในพื้นที่นิยมนำประทัดลูกบอลจุดไล่นก ไล่หนูที่จะมากัดกินพืชผลทางการเกษตร

นายศุภมาส กลมเกลี้ยง ปลัดอำเภออู่ทอง ยืนยันว่า สถานที่เกิดเหตุระเบิดไม่ได้รับอนุญาติให้ประกอบกิจการผลิตประทัด ตามกฎหมายอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 และในพื้นที่ก็ไม่มีผู้ประกอบการรายอื่นขออนุญาตผลิตวัตถุลักษณะนี้มีเพียงการขออนุญาตใช้แก๊บระเบิดในโรงโม่หิน 13 แห่ง เท่านั้นโดยขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังกวดขันเข้มงวดหากมีการเปิดโรงงานที่ไม่ได้รับอนุญาตโดยทางฝ่ายปกครองอยู่ระหว่างการรวบรวมหลักฐานและจะแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินคดีต่อไป

ส่วนผู้เสียชีวิตทั้ง 6 คนเบื้องต้นพบว่าเป็นชาวเมียนมาซึ่งพบบัตรประจำตัวการเดินทางเข้ามาทำงานภายในประเทศถูกกฎหมาย 3 คน คือ นายโซ นางเต็งเต็งยี และนายเต็กไฟตัน

 

 

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ระบุว่า ขณะนี้จัดหางานจังหวัดสุพรรณบุรีอยู่ระหว่างการตรวจสอบ พบว่าแรงงานบางส่วนเข้ามาทำงานถูกกฎหมายจึงอยู่ในระบบประกันสังคม ซึ่งมีการคุ้มครอง ค่าทดแทนรายได้ และค่าทำศพอยู่แล้ว แต่ต้องตรวจสอบว่าบุคคลใดเป็นนายจ้างและนายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ซึ่งอาจกระทำผิดมาตรา 14 เรื่องจากนายจ้างต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการทำงานและแจกคู่มือการปฏิบัติงานให้ลูกจ้างทุกคนก่อนที่จะทำงาน และมาตรา 16 นายจ้างต้องให้หัวหน้างานและลูกจ้างได้รับอบรมด้านความปลอดภัยในการทำงาน และมาตรา 34 กรณีที่สถานประกอบกิจการเกิดอุบัติภัยร้ายแรง หรือลูกจ้างประสบอันตรายจากการทำงานให้แจ้งภายใน 7 วัน หากพบว่าไม่ได้ปฏิบัติตามจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีปรับไม่เกิน 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับซึ่งเป็นความผิดทางอาญา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง