วันนี้ (7 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์รายงานว่า ภัยแล้งรุนแรงในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงของเวียดนาม ส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตรทั้งปริมาณที่ลดลงและราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น ที่ตลาดไคราง ตลาดน้ำที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม บนแม่น้ำเหิ่ว แม่น้ำสาขาแม่น้ำโขง ในเมืองเกิ่นเทอ ทางตอนใต้ของเวียดนาม พ่อค้าปลีกที่นำเรือมาซื้อแตงโม ผลไม้ที่มีแหล่งเพาะปลูกทางตอนใต้ เปิดเผยกับไทยพีบีเอสว่า ราคาต่อกิโลกรัมปรับขึ้นจาก 6,000 ดอง เป็น 8,000 ดอง จากเมื่อ 2 เดือนก่อน ทำให้ราคาขายปลีกขยับขึ้นตามไปด้วย ขณะที่พ่อค้าคนกลาง ระบุว่าปริมาณผลผลิตลดลงเล็กน้อย ส่วนกะหล่ำปลีราคาขายส่งปรับขึ้น 30 % ภายในเวลาเดือนครึ่ง
เหงียน ฮิว ทรุง รอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ มหาวิทยาลัยเกิ่นเทอ กล่าวว่า ภัยแล้งรอบนี้รุนแรงที่สุดในรอบ 90 ปี มีสาเหตุจากปรากฏการณ์เอลนิโญ่ที่ทำฤดูฝนสั้นลงทั้งในเวียดนาม ไทย ลาว กัมพูชา ทำให้แม่น้ำโขงที่ไหลผ่านสามประเทศมีปริมาณลดลง รวมทั้งปัจจัยเรื่องเขื่อนในจีน เมื่อถึงฤดูแล้งน้ำจืดในแม่น้ำโขงไม่เพียงที่จะผลักดันน้ำเค็ม ทำให้น้ำเค็มรุกเข้าพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงประมาณ มากกว่าปีที่ผ่านๆมาถึง 20 กิโลเมตร กระทบพื้นที่เกษตร โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวกว่า 1.25 ล้านไร่ แต่ยังไม่สามารถคาดการณ์ความเสียหายของผลผลิตได้
ก่อนหน้านี้ รอยเตอร์ส เผยแพร่บทวิเคราะห์ระบุว่า ภัยแล้งกำลังสร้างผลกระทบให้ประเทศผู้ผลิตข้าว 3 รายใหญ่ ของเอเชีย ได้แก่ อินเดีย ไทย และเวียดนาม ซึ่งส่งออกข้าวรวมกว่าร้อยละ 60 ของปริมาณการค้าข้าวทั่วโลก และปริมาณข้าวในสต็อกของผู้ส่งออกรายใหญ่ทั้ง 3 ประเทศถูกคาดการณ์ว่าจะลดลง 1 ใน 3 ภายในสิ้นปี 2559