วันนี้ (24 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์รายงานว่า เครือข่ายพลเมืองสงขลา เครือข่ายคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน และเปอมาตามาส นัดรวมตัวที่หน้าค่ายเสนาณรงค์อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา วันที่ 25 พ.ค. เวลา 10.00 น. เพื่อยื่นหนังสือถึง พล.ต.วิรัชช์ กมลศิลป์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42 ให้ยุติการสนับสนุนโรงไฟฟ้าเทพา หลังจากเมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา พล.ต.วิรัชช์ ส่งหนังสือเลขที่ กห. 0484.63/113 ลงวันที่ 21 เม.ย.2559 เรื่อง ขอความร่วมมือการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ถึงอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ซึ่งแกนนำเครือข่ายต่างๆ ระบุการรวมตัวในวันที่ 25 พ.ค. เพื่อเป็นการแสดงออกให้ทหารหยุดคุกคามนักวิชาการ ให้มีความเป็นกลาง ยุติการคุกคามกลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน และขอให้ยกเลิกหนังสือฉบับดังกล่าว
สำหรับกรณีดังกล่าวสืบเนื่องจาก วันเดียวกัน (24 พ.ค.) นายเอกชัย อิสระทะ ผู้ประสานงาน เครือข่ายพลเมืองสงขลา ส่งหนังสือ ที่ คพส.04/2559 เรื่อง ขอความร่วมมือในการยุติบทบาทการสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาของทหาร เรียน พล.ต.วิรัชช์ กมลศิลป์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42 อ้างถึง หนังสือ กห 0484.63/1113 ลงวันที่ 21เมษายน 2559
ระบุว่า เครือข่ายพลเมืองสงขลา เป็นกลุ่มบุคคลในพื้นที่จังหวัดสงขลา ที่ตระหนักในสิทธิและหน้าที่ความเป็นพลเมือง เราได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์พัฒนาบ้านเมืองมาโดยตลอด เพื่อคุณภาพชีวิต สุขภาวะ เศรษฐกิจ สังคม รวมถึงการรักษาดูแลฐานทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม
เครือข่ายฯ ขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 4 ที่รับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข...
ขอกล่าวถึงหนังสือ กห 0484.63/1113 ลงวันที่ 21เมษายน 2559ของท่าน ที่ส่งถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ อันมีเนื้อหาใจความสำคัญ คือ “การขอความร่วมมือในการทำความเข้าใจกับบุคลากรที่เคลื่อนไหวและต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา”
เครือข่ายพลเมืองสงขลาขอแสดงความคิดเห็นต่อการทำหนังสือฉบับนี้ ดังนี้
1.การทำหนังสือดังกล่าวเป็นการทำเกินอำนาจหน้าที่ สะท้อนถึงวิธีคิด และการไม่เข้าใจต่อความเป็นจริงของสังคม
2.การทำหนังสือฉบับดังกล่าว เป็นการละเมิดสิทธิ และเป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพทางวิชาการ
เครือข่ายพลเมืองสงขลา ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับท่านว่า กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินซึ่งไม่เคยมีอยู่ในแผนของจังหวัดมาก่อน ปัจจุบันเรามีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติ จะนะ จำนวน 2 โรง กำลังการผลิต 1,500 เมกกะวัตต์ ในขณะที่จ.สงขลา เรา ใช้ไฟฟ้าสูงสุดเพียง 480 เมกกะวัตต์ ในปี 2557 กำลังการผลิตนี้มากเพียงพอต่อ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่างอยู่แล้ว
อีกประเด็นคือ ปัญหามลพิษที่มากับโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ก่อสร้างมาก่อนแล้ว อย่างกรณีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต มีคำพิพากษาของศาลออกมาแล้ว ให้ กฟผ.แก้ไขปัญหา แต่กฟผ. ก็ยังไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ เราจึงออกมาร่วมกันคัดค้านด้วยเหตุผลเบื้องต้น ดังกล่าว
การคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน เรามีข้อเสนอในการจัดการพลังงานใหม่ทั้งระบบ พร้อมทางเลือกในการจัดการพลังงาน หากแต่เรื่องราวเหล่านี้ต้องอาศัยการพูดคุยปรึกษาหารือกัน การที่นักวิชาการหลายท่านได้ออกมาตั้งข้อสังเกต ออกมาให้ข้อมูล รวมถึงการศึกษาวิจัยร่วมกับประชาชนในพื้นที่ในการแสวงหาทางเลือกทางออกให้กับสังคม ย่อมเป็นสิ่งที่ดี แต่หนังสือฉบับดังกล่าวของท่าน ถึงแม้จะใช้คำสวยๆ นิ่มๆ หากแต่แสดงนัยยะแฝงถึงการสกัดกั้นการแสดงออกทางความคิดของกลุ่มคนที่เห็นต่าง ซึ่งบทบาทเหล่านี้ ไม่ควรเป็นบทบาทของทหารในยุคปฏิรูป ซึ่งแนวทางการปฏิรูปพลังงานไทยไม่ใช่แนวทางการใช้พลังงานถ่านหินอย่างแน่นอน
เครือข่ายพลเมืองสงขลา ต้องการสังคมที่ดี การเปิดพื้นที่พูดคุยจึงมีความจำเป็น นี้เป็นเรื่องความมั่นคงของประชาชน การใช้พลังงานถ่านหินจะทำลายฐานทรัพยากรในการดำรงชีวิตมีความสำคัญและจำเป็นของเราจึงขอความร่วมมือจากท่าน ขอให้ท่านให้ความร่วมมือกับประชาชน โดยยุติบทบาทการสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และขอคืนหนังสือฉบับดังกล่าว เปลี่ยนบทบาทมาเป็นคนกลางจัดเวทีนำข้อมูลของทั้งสองสามฝ่ายที่มีความคิด และข้อมูลต่างกันมาเปิดให้ประชาชน สาธารณะชนได้พิจารณาอย่างตรงไปตรงมา นำไปสู่การปฏิรูปจริงๆ
ขอบคุณภาพ : WAY
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ หนังสือ กห 0484.63/1113 ลงวันที่ 21เมษายน 2559 ลงนามโดย พล.ต.วิรัชช์ กมลศิลป์ ผบ.มณฑลทหารบกที่ 42 ถึงอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระบุขอความร่วมมือการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ส่งถึงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อวันที่ 2 พ.ค.2559 เวลา 13.30 น. ตามเลขรับหนังสือที่ 2508
จากนั้นอธิการบดี จึงแทงหนังสือ เมื่อวันที่ 10 พ.ค. ระบุว่า
- สำเนาแจ้งคณบดีคณะวิศวะฯ เพื่อแจ้งบุคลากรที่ไปดูงานร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เพื่อทราบด้วย
- สำเนาแจ้งคณบดีคณะวทท. เพื่อแจ้ง ดร.สมพร เพื่อทราบด้วย
- ให้นัดบุคลากร/ อาจารย์ไปดูงานที่ญี่ปุ่นร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตมาประชุมกับผมด้วย
หมายเหตุ : นัดประชุมหารือในวันที่ 25 พ.ค.59 เวลา 08.30-09.30 น. ณ ห้องประชุม 2 สนอ.วข.หาดใหญ่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับหนังสือที่ พล.ต.วิรัชช์ กมลศิลป์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42 ส่งถึงอธิการบดี มอ.ระบุว่า เรื่อง ขอความร่วมมือการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เรียน อธิการบดี มอ.หาดใหญ่
ตามที่มีกลุ่มมวลชนมีการเคลื่อนไหวและต่อต้าน กรณีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาในพื้นที่จังหวัดสงขลา โดยมีกลุ่มแกนนำในพื้นที่, และพื้นที่ใกล้เคียง, กลุ่มข้าราชการ, กลุ่มนักวิชาการ และกลุ่มประชาสังคม หรืออาจมีบุคลากรในหน่วยงานของท่านบางคนไม่เข้าใจการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา อาจหันไปให้การสนับสนุนให้ความร่วมมือ มณฑลทหารบกที่ 42 จึงขอความร่วมมือจากท่านทำความเข้าใจกับบุคลากร เพื่อให้ทราบถึงวิธีการดำเนินงานในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา
ด้าน ดร.สมพร ช่วยอารีย์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า เพิ่งได้รับหนังสือสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จากเพื่อนร่วมงาน เป็นหนังสือที่ กห. 0484.63/113 ส่งมาจากมณฑลทหารบกที่ 42 (มทบ.42) ค่ายเสนาณรงค์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ลงวันที่ 21 เม.ย.2559 เรื่อง ขอความร่วมมือการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เรียน อธิการบดี ม.อ.หาดใหญ่
“ในฐานะที่ผมเป็นนักวิชาการ เหตุผลที่ว่า ทำไมผมออกมาตั้งคำถามกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน ผมตั้งคำถามเพื่ออะไร ในทางวิชาการมีเหตุผลแน่นอน แต่ผมขอเสนอว่า ม.อ.น่าจะเปิดเวทีดีเบตเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินกันสักยกก็คงจะดีนะครับ อาจจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมครับ กรณีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเป็นเรื่องที่สำคัญกับคนที่จะได้รับผลกระทบและระบบนิเวศโดยรวม จะมาใช้วิธีการบังคับทุกคนที่มีความเห็นต่างไม่ใช่สิ่งที่ดี ต้องเปิดเวทีพูดคุยข้อมูลกันอย่างจริงจัง” ดร.สมพรกล่าว
ด้านนายประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน กล่าวว่า จดหมายฉบับนี้เป็นเกมขั้นถัดมาหลังจากที่ กฟผ. ชงให้มีการประมูลโรงไฟฟ้าถ่านหิน ผมรู้ว่าพวกคุณเตรียมมาตรการขั้นต่อไปเอาไว้แล้ว เพื่อบังคับให้เกิดการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เทพาให้จงได้ แต่ขอเตือนพวกทหารเอาไว้ก่อนว่า สิ่งที่พวกคุณต้องเผชิญนั้น นอกจากกระแสโลกแล้ว พวกคุณยังไม่สำนึกว่าการทำลายศาสนสถานของพี่น้องมุสลิมในพื้นที่การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพานั้นจะเกิดอะไรตามมา
“หนังสือฉบับนี้เขียนได้ดูดีมาก เสมือนไม่สั่งการ ว่าให้จัดการฝ่ายคัดค้าน ผบ.มทบ.42 เขียนตรงๆ ไปเลย ว่า อยากให้อธิการบดี มอ.จัดการกับฝ่ายคัดค้าน จดหมายฉบับนี้ จะต้องเผยแพร่ไปทั่วโลก ว่า ในขณะที่ทั้งโลกกำลังเรียกร้องเรื่องนี้ ทหารไทยกลับมีพฤติกรรมตรงกันข้าม” นายประสิทธิชัยกล่าว
ด้านนายบรรจง นะแส กรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่าในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีอาจารย์สองท่าน ที่มีความสนใจปัญหาเรื่องพลังงานของประเทศมาก คือผศ.ประสาท มีแต้ม และดร.สมพร ช่วยอารีย์ ทั้งสองท่านได้ทำหน้าที่ในบทบาทของนักวิชาการที่ขยันขันแข็งและตรงไปตรงมา มีการดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย ลูกศิษย์ลูกหารักใคร่กราบไหว้ด้วยความเคารพ การที่ผบ.มท.42 ออกหนังสือถึงท่านอธิการบดีเสมือนปรามบทบาทของนักวิชาการ ที่ทำหน้าที่ของเขา
“จากหนังสือฉบับดังกล่าว มีคำถามตามมามากมาย 1.ท่านกำลังละเมิดสถาบันการศึกษาอย่างรุนแรง (แม้จะใช้ภาษาการทูต แต่วิญญูชนย่อมอ่านแล้วเข้าใจเจตนาท่านดี 2.ท่านกำลังทำตัวเกินบทบาทหน้าที่โดยเสมือนประกาศสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างน่าอายที่สุด ถ้าท่านคิดว่าท่านบริสุทธิ์ใจขอให้ท่านเปิดเวทีแล้วตอบคำถามของนักวิชาการ และฝ่ายที่คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ว่าท่านมีเหตุผลไดที่สนับสนุน ถ้าท่านตอบได้ทุกคำถาม ถือว่าท่านได้ศึกษาหาความรู้มามากพอ จึงสนับสนุนโดยบริสุทธิ์ ถ้าท่านตอบไม่ได้ท่านควรขอโทษท่านอธิการบดี และขอย้ายตัวเองออกนอกพื้นที่ เพราะท่านได้ทำให้กองทัพมัวหมอง ในกรณีดังกล่าว เพราะทำตัวไม่เหมาะสม ไม่เป็นกลาง สร้างความขัดแย้งขึ้นในพื้นที่อย่างไร้วุฒิภาวะ ที่จะเป็นหัวหน้าหน่วยที่สำคัญของกองทัพภาคที่ 4 ในพื้นที่ของความขัดแย้งที่คุกรุ่นในจ.สงขลา 3.ในฐานะคนสงขลา ในฐานะศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และในฐานะกรรมการส่งเสริมฯของมหาวิทยาลัย ผมขอประนามการกระทำดังกล่าวของท่าน ที่ละเมิดสถาบันการศึกษา และที่มีท่าทีข่มขู่บุคคลากรทางวิชาการของมหาวิทยาลัย มา ณ โอกาสนี้”