วันนี้ ( 24 พ.ค.2559 ) สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทยร่วมกับ 4 หน่วยงาน ได้แก่ Friend of the Sea(FOS) Earth Island Institute(Ell) สมาคมผู้นำเข้าและจำหน่ายสินค้าอาหารของสหราชอาณาจักร และInternational Pole and Line Foundation ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับอุตสาหกรรมทูน่าในตลาดโลก โดยเห็นร่วมกันว่าการใช้ทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืนและถูกกฎหมายเป็นสิ่งที่จำเป็น
นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวว่า ทั่วโลกให้ความสำคัญในการส่งเสริมการทำประมงถูกกฎหมายและการทำประมงอย่างยั่งยืน เช่น การใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างเหมาะสม การปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายและกฎระเบียบของไทยและในระดับสากลทั้ง องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ(FAO) และ องค์การสหประชาชาติ(UN)
นายชนินทร์ ยังกล่าวอีกว่า สมาคมพร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน หรือ NGOs สนับสนุนการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย(IUU Fishing) โดยยึดหลักวิชาการและข้อมูลวิทยาศาสตร์ ยึดมั่นในกรอบกฎหมายสากล การปฎิบัติอย่างโปร่งใส เปิดเผยและมีเอกสารอ้างอิงและตรวจสอบได้ โดยมีสิ่งที่จำเป็นต้องมีการปรับปรุงโดยเร็ว คือ กรอบกฎหมายให้เป็นไปตามกฎหมายสากล โดยขณะนี้ประเทศไทยเดินหน้าในการออกกฎหมายลูกมาแล้ว 35 ฉบับ จากทั้งหมด 65 ฉบับ ภายใต้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการประมงผิดกฎหมาย และระบบระบบติดตามตำแหน่งเรือ เพื่อควบคุมและติดตามการทำประมงของเรือขนาดใหญ่ โดยเฉพาะเรือ 30 ตันขึ้นไป และควรให้เวลาเรือเล็กในการปรับตัวให้ถูกต้องตามกฎหมาย
สำหรับการแก้ปัญหายังมีเรื่องที่ต้องทำเพิ่มเติม เช่น การออกกฎหมายส่วนที่เหลือ การตรวจสอบเรือ การจับปลาเกินปริมาณ โดยเรียกร้องให้หลายส่วนให้ความร่วมมือเพื่อให้แก้ปัญหารวดเร็วส่วนการที่อียูเลื่อนประเมินอีก 6 เดือน ไม่ได้มีผลต่ออุตสาหกรรมประมง เพราะเป็นสิ่งที่ต้องทำและต้องให้เวลาปรับตัว
นาย Adolfo Valsecchi ประธานจัดงานทูน่าโลก กล่าวว่า ประเทศไทยเดินมาถูกทาง ในการจัดการปัญหาไอยูยู ซึ่งจะเป็นตัวอย่างสำหรับประเทศต่างๆ ในการสร้างความยั่งยืนในอุตสาหกรรมประมงเนื่องจากทรัพยากรสัตว์น้ำมีจำกัดเช่น ปลาทูน่า ทั้งโลกผลิตได้เพียงปีละ 5 ล้านตัน จึงต้องจำกัดด้วยการปรับปรุงเทคโนโลยี และการเพิ่มมูลค่า