วันนี้ (25 พ.ค.2559) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือข้อสรุปในการย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ ย่านจตุจักร หรือ หมอชิตใหม่ ก่อนคืนพื้นที่ให้ รฟท. ก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางการเดินรถไฟในอนาคต ขณะที่ บขส. เสนอแผนย้ายหมอชิตไปใช้พื้นที่ย่านรังสิต เพื่อสร้างสถานีแห่งใหม่และพื้นที่อู่จอดรถ
บริเวณหน้าสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (รังสิต) จนถึงศูนย์ซ่อมบำรุงและตรวจสภาพรถ รวมพื้นที่ 45 ไร่ เป็นหนึ่งในพื้นที่ของบริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) ที่ได้รับการเสนอสร้างเป็นสถานีขนส่งและจุดออกรถแห่งใหม่ รองรับการย้ายสถานีขนส่งหมอชิต หลังกระทรวงคมนาคมและระเบียบของกรมการขนส่งทางบก กำหนดให้สถานีขนส่งแห่งใหม่ต้องมีพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 80 ไร่ เพื่อจัดสร้างเป็นตัวสถานี 40 ไร่ และพื้นที่อู่จอดรถประมาณ 40 ไร่
ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ได้สำรวจพื้นที่ดังกล่าวพร้อมเจ้าหน้าที่ บขส. ได้รับคำชี้แจงว่าพื้นที่ที่ บขส. ประเมินว่าจะใช้สร้างเป็นสถานีผู้โดยสารแห่งใหม่ได้ คือ ตั้งแต่หน้าสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (รังสิต) ปั๊มก๊าซ NGV/ จนถึงหน้าอาคารจัดการ ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 14 ไร่ หากมีการสร้างอาคารสถานีเพิ่มเติมในพื้นที่ใหม่ที่กำหนดไว้ อาจไม่เพียงพอรองรับผู้โดยสารจากสถานีขนส่งหมอชิตที่มี 40,000-50,000 คนต่อวัน รวมทั้งรถที่วิ่งสายภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีประมาณวันละ 120 เที่ยว ขณะที่พื้นที่ บขส.รังสิต ซี่งมีหน้ากว้างเพียง 70 เมตรและอยู่ติดกับเสาไฟฟ้าแรงสูงยิ่งเพิ่มข้อจำกัดในการใช้พื้นที่ เพราะการก่อสร้างอาคารต้องเว้นระยะห่างตามมาตรฐานของการไฟฟ้า เช่นเดียวกับสภาพการจราจรโดยรอบที่มีลักษณะเป็นคอขวด ทำให้เกิดความกังวลว่า หากมีรถโดยสารวิ่งเข้าออกบริเวณนี้มากขึ้น อาจเพิ่มผลกระทบด้านจราจรในพื้นที่
ทั้งนี้ ข้อมูลเกี่ยวกับแผนการย้ายหมอชิตมาย่านรังสิตทั้งหมด บอร์ดบริหาร บขส.จะนำมาหารือร่วมกับกระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย องค์การขนส่งมวลชนกรุเงทพ และกรมการขนส่งทางบก เพื่อพิจารณาความเหมาะสมและหาข้อสรุปในวันนี้ ส่วนพื้นที่อู่จอดรถซึ่งคาดว่าจะใช้ประมาณ 40 ไร่ ก่อนหน้านี้ นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่าจะประกาศทีโออาร์ให้เอกชนนำที่ดินมาเสนอขายต่อไป