ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นายกฯ ย้ำ ไม่มีเจตนาล้มกระบวนการทำประชามติร่าง รธน. เพื่อสืบทอดอำนาจ คสช.

การเมือง
25 พ.ค. 59
11:38
142
Logo Thai PBS
นายกฯ ย้ำ ไม่มีเจตนาล้มกระบวนการทำประชามติร่าง รธน. เพื่อสืบทอดอำนาจ คสช.

ผู้ตรวจการแผ่นดินเลื่อนประชุมลงความเห็น ส่ง-ไม่ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็น 1 มิ.ย.59 กรณีเครือข่ายนักวิชาการและนักกฎหมายขอให้ชี้ขาด พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 ขัดต่อรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 หรือไม่ ด้าน นายกฯ ย้ำไม่มีเจตนาล้มกระบวนการทำประชามติฯ เพื่อสืบทอดอำนาจ

วันนี้ (25 พ.ค. 2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการเปิดเผยของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) ว่ารัฐบาลมีเจตนาล้มกระบวนการทำประชามติ เพื่อต่ออายุให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งยังมีเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญเข้ามาเกี่ยวข้อง ยิ่งทำให้กระแสข่าวดังกล่าวถูกตั้งคำถามมาก

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ออกมาปฏิเสธว่า ไม่มีเจตนาล้มกระบวนทำประชามติอย่างแน่นอน และไม่เลื่อนการเลือกตั้งออกไปจากที่กำหนดไว้ในโรดแมป เพียงแต่ไม่สามารถระบุรายละเอียดแนวทางรองรับ หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติได้ เนื่องจากเหตุการณ์ยังไม่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับบุคคลในรัฐบาลและ คสช.ส่วนหนึ่ง ที่ปฏิเสธให้ความเห็นกรณีหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ

ระหว่างตอบคำถามเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ มีอากัปกิริยาไม่พอใจ หงุดหงิด และตัดพ้อถึงภาระที่แบกอยู่ พร้อมย้ำว่าจะไม่ตอบคำถามในเรื่องนี้อีก

มีการประเมินในอีกแง่ว่า อาการหงุดหงิดดังกล่าวของนายกฯ นอกจากเรื่องเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ความสัมพันธ์ที่มีต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในช่วงนี้อาจเป็นอีกสาเหตุ เพราะพบการตัดพ้อกันผ่านสื่อมวลชน

ซึ่งประเด็นการตัดพ้อระหว่างกันของ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร เป็นไปได้ว่ามาจาก 3 เงื่อนไข คือ 1.กรณี นปช.ร้อยเอ็ด เข้าร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และ 2.กรณีอาจารย์จาก จ.สงขลา เข้ายื่นเรื่องถึง กกต. ขอให้วินิจฉัยการแถลงข่าวของ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ด้วยเชื่อว่าเป็นกระทำการขัดต่อ พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2559

และ 3.กรณีผู้ตรวจการแผ่นดินลงความเห็นควรส่งหรือไม่ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามคำร้องของเครือข่ายนักวิชาการและนักกฎหมาย ที่ยื่นขอวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 มาตรา 61 ขัดรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 มาตรา 4 เรื่องสิทธิและเสรีภาพของบุคคล หรือไม่

ซึ่งล่าสุดผู้ตรวจการแผ่นดินขอเลื่อนลงความเห็นเป็นวันที่ 1 มิ.ย. 2559 แต่เบื้องต้นมีความเห็นตกผลึกแล้วระดับหนึ่ง แต่ที่ต้องรอฟังคำชี้แจงจาก กกต. เพราะการพิจารณาดังกล่าวมีผลต่อการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ วันที่ 7 ส.ค. 2557

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง