วันนี้ (25 พ.ค.2559) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ล่าสุด ครม.เห็นชอบ ให้ไทยลงสัตยาบรรณในอนุสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้สูญหาย และภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ซึ่งไทยเข้าร่วมตั้งแต่ปี 2554 และ 2550 แต่ยังไม่มีผลบังคับใช้ เพราะยังไม่มีการลงสัตยาบรรณ
นอกจากนั้น ครม.ยังเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ.ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ โดย พ.ร.บ.ดังกล่าว มีใจความสำคัญคือ กำหนดบทลงโทษเกี่ยวกับการกระทำความผิดในการทรมานผู้ถูกจับกุม หรือการอุ้มให้สูญหาย ไม่ว่าจะโดยเจ้าหน้าที่รัฐหรือความยินยอมจากเจ้าหน้าที่รัฐ โดยมีอายุความ 20 ปี
กฎหมายฉบับนี้ครอบคลุมถึงสถานการณ์ฉุกเฉินและสถานการณ์ความไม่มั่นคง ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่สามารถกล่าวอ้างเพื่อกระทำความผิดได้ พร้อมระบุว่า แม้รัฐบาลชุดนี้จะเป็นรัฐบาลเฉพาะกิจ แต่ก็พร้อมออกกฎหมายที่เป็นหลักสากล โดยจะเสนอไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบต่อไป
ทั้งนี้ ครอบครัวนีละไพจิตร เป็น 1 ในผู้ที่ผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อมีคำพิพากษาศาลฎีกา เมื่อ 29 ธันวาคม 2558 ยกฟ้อง 5 ตำรวจ จากคดีการหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ด้วยเหตุกฎหมายปัจจุบันไม่เปิดโอกาสให้ครอบครัวเป็นโจทก์ร่วม และไม่มีความผิดว่าด้วยการทำให้บุคคลสูญหาย เมื่อไม่พบศพทนายสมชาย และพยานหลักฐานไม่ชัดเจนพอ จึงทำให้ศาลยกฟ้อง