เหตุการณ์ขโมยลูกนกเงือกจากเทือกเขาบูโดในเขตอุทยานแห่งชาติเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม 2559 และหลังจากนั้นพบว่ามีการโพสต์ข้อความและภาพขายลูกนกเงือกตัวที่คาดว่าถูกขโมยดังกล่าวบนเฟซบุ๊ก เป็นกรณีล่าสุดที่สะท้อนให้เห็นว่าเฟซบุ๊กได้กลายเป็นตลาดค้าขายสัตว์ป่าอย่างเปิดเผย
วันนี้ (30 พ.ค.2559) นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ รองประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ให้สัมภาษณ์ "ไทยพีบีเอสออนไลน์" ถึงกระแสลักลอบขายและนิยมเลี้ยงสัตว์ป่าในปัจจุบันว่าเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายกว่าเดิม และค่านิยมนี้เริ่มกระจายไปสู่กลุ่มคนเลี้ยงสัตว์ที่หลากหลาย โดยแรงกระตุ้นที่ทำให้คนไทยหันมาเลี้ยงสัตว์ป่ามากขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งมาจากงานจัดแสดงสัตว์แปลก ซึ่งส่วนมากเป็นสัตว์จากต่างประเทศที่มีใบอนุญาตถูกต้อง แต่เพราะราคาแพงจึงทำให้ผู้ที่สนใจหันมาซื้อสัตว์ป่าในประเทศแทน ซึ่งหลายคนไม่สามารถแยกแยะได้ว่าสัตว์แปลกที่ขายนั้นถูกหรือไม่ถูกกฎหมาย อีกปัจจัยคือการซื้อขายที่คล่องตัวมากขึ้นผ่านทางออนไลน์ โดยเฉพาะ "เฟซบุ๊ก" ที่เปิดพื้นที่ให้ผู้ซื้อและผู้ขายได้สื่อสารกันโดยตรง
นพ.รังสฤษฎ์กล่าวว่า ไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่ประสบปัญหาการลักลอบค้าสัตว์ป่าผ่านทางเฟซ บุ๊ก ประเทศอินโดนีเซียก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน โดยพบว่านกเงือกเป็นสัตว์ป่าที่ถูกลักลอบค้ามากที่สุด จนทำให้ทุกวันนี้นกเงือกกว่า 10 ชนิดอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ โดยเฉพาะนกชนหินที่มีโหนกตันเป็นที่ต้องการของลูกค้า ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พบว่าจำนวนนกชนหินในอินโดนีเซียลดลงถึงร้อยละ 80-90
"ตอนนี้อาจกล่าวได้ว่าการลักลอบค้าสัตว์ป่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้สัตว์ป่าหลายชนิดในประเทศไทยสูญพันธุ์ อีกทั้งช่องทางการซื้อขายแบบตัวต่อตัวผ่านสื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟซ บุ๊กที่กลายเป็นช่องทางหลัก ยิ่งทำให้ปัญหาบานปลาย" รองประธานมูลนิธิสืบฯ ให้ความเห็น
นพ.รังสฤษฎ์ กล่าวต่ออีกว่า สถานการณ์การลักลอบค้าสัตว์ป่ามีความรุนแรงขึ้นเพราะขบวนการค้าสัตว์ป่าเป็นกลุ่มคนที่มีอิทธิพลมาก และเชื่อว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง
นพ.รังสฤษฎ์เปิดเผยว่า การที่เขารณรงค์ต่อต้านการค้าสัตว์ป่า ทำให้เขาและครอบครัวเคยถูกขู่ทำร้ายด้วยเช่นกัน
นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ รองประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ รองประธานมูลนิธิสืบฯ กล่าวว่า เบื้องต้นกลุ่มนักอนุรักษ์สัตว์ป่าได้แจ้งข้อมูล (report) ผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ทำการซื้อขายสัตว์ป่า ไปยังสำนักงานเฟซบุ๊ก ประจำประเทศไทย หลังจากนั้น กลุ่มค้าสัตว์ป่าบนเฟซบุ๊กก็เปลี่ยนจากการซื้อขายอย่างโจ่งแจ้งเป็นการตั้งกลุ่มปิด (Closed Group) มักขายร่วมกับสัตว์ถูกกฎหมาย ทางผู้ดูแลเฟซ บุ๊กจึงไม่เห็นว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ซึ่งไม่เหมือนการโพสต์ภาพหรือข้อความอนาจารที่ระบุความผิดได้ทันที ซึ่ง นพ.รังสฤษฎ์เสนอว่า จะต้องเร่งทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่เฟซบุ๊กให้เข้าใจถึงประเด็นนี้
"ที่ผ่านมาจากการรีพอร์ต สามารถปิดเฟซบุ๊กที่ประกาศขายสัตว์ป่าที่ได้รับความนิยมได้เพียง 1-2 เพจ แต่นอกนั้นแทบไม่เป็นผล ส่วนเฟซบุ๊กใดที่ถูกปิดไป ก็ไปเปิดในชื่อใหม่ที่ใกล้เคียงกับชื่อเก่า กลุ่มฐานลูกค้าก็ตามไปซื้อขายได้โดยง่าย" นพ.รังสฤษฎ์ระบุ
ผู้สื่อข่าวทดลองค้นหาคำเกี่ยวกับการค้าสัตว์ป่าในช่องค้นหาของเฟซบุ๊กโดยใช้คำว่า "กลุ่มซื้อขายสัตว์แปลก ซื้อขายสัตว์หายาก" จะปรากฏลิงก์ไปยังเพจเฟซบุ๊ก 5 เพจ โดย 3 ใน 5 เป็น กลุ่มปิดและมีสมาชิกจำนวนมาก ตั้งแต่ 2,500-4,700 คน และหากเป็นคำว่า "ซื้อขายสัตว์แปลกน่ารัก" ที่มีการค้าสัตว์ป่าร่วม พบสมาชิกเพจเฟซบุ๊กในกลุ่มดังกล่าวเพียงเฟซเดียวสูงถึงหลัก 6,500 คน เป็นต้น
"เร็วๆ นี้ มูลนิธิสืบฯ จะหารือกับองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านการอนุรักษัสัตว์ป่าเพื่อหาข้อสรุปและทำจดหมายอย่างเป็นทางการส่งถึงทีมบริหารเฟซบุ๊กในประเทศไทย เฟซบุ๊กเอเชีย และเฟซบุ๊กสำนักงานใหญ่ เพื่อให้ช่วยปิดช่องทางลักลอบค้าขายสัตว์ป่าผ่านทางเฟซบุ๊ก โดยเริ่มต้นจากการห้ามค้าขายสัตว์ที่อยู่ในบัญชีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกลสู้ญพันธุ์ (ไซเตส)" นพ.รังสฤษฎ์กล่าว
ข้อมูลจากกองทุนสัตว์ป่าสากล (WWF) ระบุว่า มูลค่าของธุรกิจลักลอบค้าสัตว์ป่าใหญ่เป็นอันดับ 4 ในบรรดาธุรกิจผิดกฎหมาย รองจากการค้าอาวุธ ยาเสพติด และสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ WWF ระบุเมื่อปี 2555 ว่า อาชญากรรมลักลอบค้าสัตว์ป่าสามารถสร้างกำไรให้ผู้ค้าได้สูง ขณะที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่ละปีพบว่าการลักลอบค้าสัตว์ป่ามีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 570,000 ล้านบาท
สิรินภา อิ่มศิริ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน