วันนี้ ( 3 มิ.ย.2559 ) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ชวนประชาชน ชมปรากฏการณ์ "ดาวเสาร์" อยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ใกล้โลกที่สุดในรอบปี ปรากฏชัดสีเหลืองสว่างสุกใส ดูได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้หลังดวงอาทิตย์ตก เห็นได้ตลอดทั้งคืนจนถึงรุ่งเช้า
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ เปิดเผยว่า ในวันศุกร์ที่ 3 มิถุนายน 2559 ดาวเสาร์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ (ตำแหน่งที่ดาวเสาร์ โลก และดวงอาทิตย์ เรียงอยู่ในเส้นตรงเดียวกัน มีโลกอยู่ตรงกลาง) ส่งผลให้ดาวเสาร์อยู่ในตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี ที่ระยะทางประมาณ 1,350 ล้านกิโลเมตร เราจึงมองเห็นดาวเสาร์พร้อมวงแหวนที่มีความสว่างมากและชัดเจน นอกจากนี้ดาวเสาร์ยังจะปรากฏบนท้องฟ้ายาวนานตลอดทั้งคืน ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกไปจนถึงอาทิตย์ขึ้นในเช้าวันถัดไป โดยปีนี้ดาวเสาร์จะอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ให้ได้ชม ตั้งแต่เดือน มิถุนายน-สิงหาคม 2559
ทั้งนี้คืนนี้ (3 มิ.ย.) ดาวเสาร์จะขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณกลุ่มดาวแมงป่อง ตั้งแต่เวลาประมาณ 19.00 น. มีสีเหลืองสว่างสุกใส สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และจะตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เวลาประมาณ 06.00 น. ของเช้าวันที่ 4 มิถุนายน
ทั้งนี้การที่ดาวเสาร์อยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ หมายถึงเมื่อดวงอาทิตย์ตกดาวเสาร์จะขึ้นจากขอบฟ้า และเมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นดาวเสาร์จะตกลับขอบฟ้า ทำให้มีระยะเวลาสังเกตการณ์ค่อนข้างยาวนานและมากพอที่จะทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการชมด้วยตาเปล่า มองผ่านกล้องโทรทรรศน์ หรือการถ่ายภาพวงแหวนดาวเสาร์ หากดูด้วยกล้องโทรทรรศน์ที่มีขนาดหน้ากล้องตั้งแต่ 4 นิ้ว หรือมีกำลังขยายตั้งแต่ 50 เท่า ขึ้นไป จะพบดาวเสาร์ปรากฏเต็มดวง นอกจากนี้ระนาบวงแหวนดาวเสาร์ยังปรากฏเอียงทำมุม 26 องศากับระดับสายตาด้วย ทำให้สามารถสังเกตวงแหวนดาวเสาร์ได้ชัดเจน
ตามปกติแล้วดาวเสาร์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์หรือใกล้โลกที่สุดเป็นประจำทุกปี ครั้งล่าสุดคือวันที่ 23 พฤษภาคม 2558 และครั้งต่อไปในวันที่ 15 มิถุนายน 2560 ขนาดปรากฏของดาวเสาร์ในช่วงที่โคจรมาใกล้โลกในแต่ละปีมีความแตกต่างกันน้อยมาก เนื่องจากดาวเสาร์อยู่ไกลจากโลกค่อนข้างมาก ต่างจากดาวอังคารที่มีขนาดปรากฏใหญ่เล็กแตกต่างกันในแต่ละปี (ระยะห่างเฉลี่ยจากโลกถึงดาวเสาร์ 1,430 ล้านกิโลเมตร ระยะห่างเฉลี่ยจากโลกถึงดาวอังคาร 78 ล้านกิโลเมตร) แต่การได้เห็นวงแหวนดาวเสาร์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ก็เป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้น และเป็นความฝันของเด็กๆ หลายคนที่อยากเห็นวงแหวนดาวเสาร์ด้วยตาตนเองสักครั้ง ดร.ศรัณย์กล่าวปิดท้าย
ดร.ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในค่ำคืนของวันที่ 3 มิถุนายน นอกจากดาวเสาร์แล้วยังมีดาวเคราะห์สว่างที่น่าสนใจปรากฏบนท้องฟ้าอีกสองดวงสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า คือดาวอังคาร และดาวพฤหัสบดี โดยในช่วงหัวค่ำดาวอังคารจะปรากฏทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ หากใช้กล้องโทรทรรศน์ส่องดูจะสามารถเห็นรายละเอียดบนพื้นผิวดาวอังคารได้อย่างชัดเจน ส่วนดาวพฤหัสบดีจะปรากฏสว่างอยู่กลางท้องฟ้าค่อนไปทางทิศตะวันตก