เยาวชนวัย 18 ปีคนหนึ่งเคยก่อเหตุฆ่าคนตายเพื่อทวงหนี้พนันฟุตบอล ทำให้ถูกคุมตัวในสถานพินิจมานานกว่า 1 ปี เขาเล่าว่าเริ่มเล่นพนันฟุตบอลตั้งแต่อายุ 14 ปี โดยการชักชวนจากเพื่อนและตั้งใจไว้ว่าหลังจากพ้นโทษจะกลับมาตั้งใจเรียนและไม่ขอยุ่งเกี่ยวกับพนันบอลอีก
"มีคนติดหนี้ผมจากการพนันบอลที่ผมได้มาเป็นหลักหมื่น เราไปทวงเขา เขาก็พูดไม่ดีกับเรา แล้วเราก็ต่อล้อต่อเถียงกันจนเกิดความรุนแรงขึ้นมาจนทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท จากการที่ต่อยกัน เอามีดไล่ฟันกัน ก็มาใช้อาวุธปืน ซึ่งก็เป็นเรื่องเล็กๆ ที่กลายมาเป็นเรื่องใหญ่" ผู้เคยเล่นพนันฟุตบอล กล่าว
ขณะที่ชายอีกคนหนึ่งที่เคยติดพนันฟุตบอลมานานกว่า 3 ปี เขาเล่าว่าเคยเห็นพฤติกรรมการเล่นพนันของคนในครอบครัวและเมื่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยก็เริ่มเล่นเพราะเพื่อนชักชวน โดยใช้เงินที่มารดาส่งให้เป็นค่าเทอม เมื่อเล่นจนชำนาญก็ผันตัวเป็นเจ้ามือ แต่สุดท้ายกลับติดหนี้หลายแสนบาทและเรียนไม่จบ
ข้อมูลจากศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุผลสำรวจในปี 2558 พบว่าในรอบ 1 ปีมีผู้เล่นพนันฟุตบอล เกือบ 2 ล้านคน มีวงเงินหมุนเวียนกว่า 1.3 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ร้อยละ 96.7 สืบหาข้อมูลประกอบการเล่นพนันผ่าน 3 ช่องทางคือ เว็บไซต์ หนังสือพิมพ์กีฬา และหนังสือพิมพ์วิเคราะห์อัตราต่อรอง โดยนิยมเล่นพนันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกมากที่สุด รองมาลงคือไทยลีก ซึ่งนิยมเล่นผ่านโต๊ะบอลโดยตรงร้อยละ 55 และเล่นผ่านคนเดินโพยร้อยละ 53.3
ขณะเดียวกันมีผู้ขอรับปรึกษาปัญหาพนันจากบริการสายด่วน 1323 ของกรมสุขภาพจิต 310 ครั้ง ซึ่งเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง 3 เท่า ในจำนวนนี้มีปัญหาพนันบอลร้อยละ 34 ส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานอายุระหว่าง 22-59 ปี และพบอายุต่ำสุดอยู่ที่ 12 ปี
นายธนากร คมกฤส ผู้อำนวยการเครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน เสนอให้ภาครัฐวางมาตรการรองรับทั้งการป้องกันนักพนันหน้าใหม่ รวมถึงบำบัดผู้ติดการพนัน เพื่อลดความเสี่ยงการก่ออาชญากรรมจากเหตุติดหนี้พนัน นอกเหนือจากการปราบปรามในระยะสั้น โดยเฉพาะในช่วงใกล้การแข่งขันฟุตบอลยูโร 2016