วันนี้ (13 มิ.ย. 2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผ่านมา 22 วันแล้วกับเหตุการณ์ไฟไหม้ ตำรวจสรุปว่าสาเหตุเกิดจากขั้วหลอดไฟร้อนจัดหลอมละลายลงบนกองผ้าก่อนที่ไฟจะลุกลามขึ้น แต่พ่อแม่ของเด็กทั้ง 17 คน ไม่ปักใจเชื่อ จึงขอให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบว่าเกิดจากความประมาทหรือไม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า จะสรุปคดีภายในวันที่ 20 มิ.ย.นี้
ขณะที่ นายเรวัตร วาสนา ผู้จัดการ ร.ร.พิทักษ์เกียรติวิทยา จ.เชียงราย ส่วนอาคารหลังใหม่ที่กำลังก่อสร้าง จะเพิ่มมาตรการความปลอดภัยมากกว่าอาคารหลังเก่าที่ถูกไฟไหม้ ซึ่งโรงเรียนเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ร่วมกับเงินที่มีผู้บริจาค
ทางทีมพลิกปมข่าวเข้าไปพูดคุยกับผู้ปกครองเด็กที่เสียชีวิตบนหอพักในคืนนั้น เพื่อหาคำตอบอีกมุมหนึ่งว่า แล้วอะไรที่ทำให้ตัดสินใจส่งลูกสาวที่อายุยังน้อยออกไปไกลบ้าน และต้องมาเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
ทั้ง ช่า แซ่จื่อ โชติชัย แซ่จาง และวิสุทธิ์ แซ่จาง ผู้ปกครองนักเรียนที่เสียชีวิตจากเหตุไฟไหม้หอพักนักเรียน บอกว่า เห็นความสำคัญของการศึกษา และเชื่อว่าลูกหลานจะมีอนาคตหากได้เรียนหนังสือ ยิ่งเฉพาะโรงเรียนที่มีคุณภาพก็จะทำให้บุตรหลานเรียนเก่งขึ้น คือปัจจัยที่ทำให้ผู้ปกครองส่งลูกหลานมาเรียนในที่แห่งนี้ ในอีกด้านคือพ่อแม่ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการทำงาน จึงส่งลูกหลานไปอยู่หอพัก เพราะเชื่อว่าปลอดภัยกว่าอยู่ที่บ้าน
ซึ่งผู้ปกครองอาจไม่มีทางเลือกมากนัก เพราะครอบครัวอาจจะยากจน แต่บางครอบครัวแม้มีโรงเรียนใกล้ชุมชน แต่คาดหวังลูกหลานได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ จึงพยายามส่งลูกหลานมาเรียนห่างจากบ้านไกลหลายกิโลเมตร
โรงเรียนพิทักษ์เกียรติวิทยา ใช้พื้นที่ 10 ไร่ของมูลนิธิพันธกิจสุขสันต์ สอนนักเรียนชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งผู้ปกครองต้องจ่ายให้โรงเรียน เทอมละประมาณ 7,000 บาท ส่วนนักเรียนที่มีฐานะยากจนมูลนิธิก็จะช่วยสนับสนุนให้
ด้านนายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย สะท้อนว่า เหตุการณ์นี้ทำให้เห็นภาพความเหลื่อมล้ำของระบบการศึกษาชัดเจนขึ้น เพราะโรงเรียนที่ไม่มีความพร้อมส่วนมากก็จะอยู่ในพื้นที่ชายขอบ
ขณะที่ตัวแทนเครือข่ายการศึกษาชนเผ่าพื้นเมือง มองว่าปัญหานโยบายรัฐ ที่ส่งผลกระทบต่อชาวชาติพันธุ์ มีอย่างน้อย 2 กรณี โดยกรณีแรกคือคุณภาพการจัดการศึกษาของโรงเรียนในชุมชน ที่รัฐบาลไม่ได้จัดสรรงบประมาณและบุคลากรที่เพียงพอให้ ครูและหลักสูตรไม่มีความผูกพันหรือยึดโยงกับเนื้อหาของวัฒนธรรมท้องถิ่น
กรณีที่สองคือ การยุบโรงเรียนขนาดเล็กทำให้พ่อแม่ต้องส่งลูกหลานมาเรียนในเมือง ทำให้เด็กอยู่ในสภาวะเสี่ยงกับอุบัติเหตุในการเดินทาง บางคนอยู่ห่างไกลต้องให้ลูกหลานอยู่หอพักที่ให้การศึกษาแบบสงเคราะห์หรือองค์กรสาธารณะประโยชน์ ซึ่งขาดมาตรฐานการดูแลอย่างรอบด้าน ซึ่งทางออกในเรื่องนี้ คือต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วมจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในท้องถิ่นอย่างแท้จริง
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เพื่อแก้ปัญหาคนรุ่นใหม่ละทิ้งถิ่นฐาน ช่วยลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ต้องส่งลูกหลานไปเรียนนอกชุมชน กระทั่งปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ไม่ได้หยุดอยู่ที่การแก้ไขคุณภาพของโรงเรียนขนาดเล็ก-ขนาดใหญ่ เท่านั้น แต่ยังมีเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ไม่มีหลักฐานทางสถานะอีก 200,000 คน จากทั้งหมด 320,000 หมื่นคน ที่เข้าไม่ถึงระบบการศึกษา ทั้งที่กฎหมายระบุชัดเจนว่า เด็กทุกคนไม่ว่าเชื้อชาติหรือสถานะใด ก็ควรได้รับสิทธิด้านการศึกษาที่เท่าเทียมกันตามกฎหมาย ซึ่งข้อมูลในข้างต้นคือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นภาพรวมความเหลื่อมล้ำที่ยังไม่หมดไปในประเทศไทย
จากบทเรียนความสูญเสียครั้งนี้ จะเป็นตัวกระตุ้นให้ใครออกมาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบการศึกษาไทยได้บ้าง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหานี้ไม่ได้พูดกันครั้งแรก และไม่ได้มีข้อเสนอของนักวิชาการเฉพาะกลุ่มนี้เท่านั้น แต่สิ่งสำคัญคือการแก้ไขกฎหมายการศึกษา โดยให้อำนาจทางการศึกษากระจายสู่ระดับชุมชนอย่างแท้จริง หากกระทรวงศึกษาธิการยังแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด เหตุการณ์สูญเสียเช่นนี้ก็อาจเกิดขึ้นซ้ำรอย ฉายภาพซ้ำสะท้อนปัญหาอยู่ร่ำไป