วันนี้ ( 21 มิ.ย.2559 ) ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า ช่วงเดือนมิถุนายนดวงอาทิตย์ตกค่อนข้างช้า ในแต่ละวันดวงอาทิตย์ จะตกลับขอบฟ้าเวลาใกล้ 19.00 น. เนื่องจากเป็นเดือนที่ประเทศทางซีกโลกเหนือได้รับปริมาณแสงจากดวงอาทิตย์นานที่สุดในรอบปี และวันที่ 21 มิ.ย. ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุดและตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด จึงเป็นวันที่มีช่วงเวลากลางวันยาวที่สุดในรอบปี ของประเทศทางซีกโลกเหนือ
ภาษาสันสกฤตเรียกว่า "วันครีษมายัน" (ครีด-สะ-มา-ยัน) หรือ Summer Solstice สำหรับประเทศไทยในวันที่ 21 มิ.ย.2559 ดวงอาทิตย์จะขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเวลาประมาณ 05:51 น. และตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเวลาประมาณ 18:47 น. ดวงอาทิตย์ ปรากฏอยู่บนท้องฟ้าเป็นเวลารวมกว่า 13 ชั่วโมง 56 นาที (เวลา ณ กรุงเทพมหานคร)
ทั้งนี้ โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นรูปวงรี ทำให้ในรอบหนึ่งปี โลกจึงมีระยะห่างจากดวงอาทิตย์ไม่เท่ากัน ช่วงที่ใกล้ที่สุดประมาณต้น เดือนมกราคม (147 ล้านกิโลเมตร) ช่วงที่ไกลที่สุดประมาณต้นเดือนกรกฎาคม (152 ล้านกิโลเมตร) เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของใกล้-ไกล ถือเป็นอัตราส่วนที่น้อยมากจึงไม่มีผลต่อการเกิดฤดูกาลแต่อย่างใด แต่การที่แกนของโลกเอียง 23.5 องศา เมื่อโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ ทำให้ตำแหน่งขั้วโลกเหนือหรือขั้วโลกใต้หันเข้าหาดวงอาทิตย์ ส่วนต่างๆ ของโลกจึงได้รับแสงอาทิตย์ไม่เท่ากัน ทำให้มีอุณภูมิต่างกันจึงเกิดเป็นฤดูกาลต่างๆ ขึ้น