วันนี้ (27 มิ.ย. 2559) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า Dan Smith นักร้องนำของวง Bastille ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว NME ว่า เขาเป็นฝ่ายสนับสนุนให้อังกฤษอยู่ในสหภาพยุโรป (อียู) มาตลอด แต่พอผลออกมาในทางตรงกันข้ามจึงรู้สึกแย่มากในเช้าวันที่ทราบข่าว ทำให้เมื่อต้องขึ้นเวทีแสดงดนตรีจึงเปลี่ยนเนื้อร้องในเพลงดังอย่าง Pompeii จากที่เคยร้องว่า "กำแพงได้ล่มสลายลงในเมืองที่เรารัก" กลายเป็นคำเสียดสีอย่าง "เงินปอนด์ได้ร่วงดิ่งลงในสุดสัปดาห์ที่เรารัก"
เหตุการณ์ในข้างต้น เป็นแค่หนึ่งในนักร้องที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับ Brexit หรือผลประชามติที่ออกมาว่าอังกฤษจะแยกตัวจากสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นในช่วงเดียวกับการจัดงานเทศกาลดนตรี Glastonbury พอดี
ขณะที่ ศิลปินอีกมากมายแสดงความไม่เห็นด้วยกับผลลัพธ์ในครั้งนี้ เช่น Damon Albarn นักร้องนำของวง Blur ตำนานบริป๊อบ 90 ที่ยืนยันหนักแน่นว่าคนรุ่นใหม่สามารถเปลี่ยนการตัดสินใจนี้ได้ หรือวง The 1975 บอกว่าเสียใจกับอนาคตที่คนหนุ่มสาวไม่ได้ต้องการ ส่วน วง Foals เลือกใส่เสื้อที่มีข้อความพูดถึงการใช้อำนาจในทางที่ผิด ด้านวงร็อคชื่อดังอย่าง Muse เลือกที่จะไม่พูดอะไร แต่เล่นเพลงสุดฮิต Uprising ที่พูดถึงการลุกฮือทางการเมืองบนเวทีแทน
อังกฤษเป็นดินแดนที่ขึ้นชื่อเรื่องดนตรีสมัยใหม่ แต่เหล่าศิลปินเองก็ยังต้องพึ่งพายอดขายจากในยุโรปที่มีสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ตลอดจนปัญหาต่างๆ ที่จะฉุดวงการเพลงที่ถดถอยตั้งแต่กฎหมายลิขสิทธิ์ แรงงาน และขั้นตอนการขอเข้าไปทัวร์คอนเสิร์ต
โดยตอนนี้ศิลปินแถวหน้าของวงการทั้ง Thom Yorke แห่งวง Radiohead หรือ Jarvis Cocker จากวง Pulp ต่างก็ชักชวนให้แฟนเพลงร่วมลงรายชื่อขอให้มีการลงประชามติครั้งที่ 2 ซึ่งยอดผู้ร่วมลงชื่อทะลุ 3 ล้านคน อย่างรวดเร็ว และทำลายสถิติแคมเปญกดดันรัฐบาลที่มีผู้ร่วมลงชื่อมากที่สุดไปแล้วเรียบร้อย
แม้โอกาสที่จะกลับมาทำประชามติรอบสองจะเป็นไปได้ยาก แต่ก็มีการรายงานว่าทางรัฐบาลจะตกลงรับแคมเปญนี้ ประกอบการถกเถียงในสภาต่อไป
แม้ศิลปินจะพูดถึงเรื่องนี้กันอย่างเต็มที่ แต่อีกหลายคนที่มาเที่ยวงานเทศกาลดนตรี Glastonbury กลับตกข่าว เนื่องจากสัญญาณไวไฟที่มีจำกัด
ด้านผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบางคนก็แสดงความสงสัยว่างานเทศกาลดนตรีกลางทุ่ง จัดขึ้นวันเดียวกับการลงประชามติ จึงน่าคิดว่าจะมีคนหนุ่มสาวมากน้อยแค่ไหนที่จะจัดการใช้สิทธิ์ของตัวเองก่อนจะมาสนุกกันในงานนี้