วันนี้ (28 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวทยพีบีเอสรายงานว่า น้ำทะเลตลอดแนวหาดบางแสน ระยะทางกว่า 3 กิโลเมตร กลายเป็นสีเขียวคล้ำ และส่งกลิ่นคาวคลุ้ง จากปรากฏการณ์ "แพลงก์ตอนบลูม" หรือ ขี้ปลาวาฬ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ที่เกิดจากแพลงก์ตอนพืชในทะเลเติบโตอย่างรวดเร็ว และทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลง จนสิ่งมีชีวิตอื่นตายและส่งกลิ่นเหม็น
ผู้ประกอบการริมหาดบางแสน ระบุว่า ปรากฏการณ์นี้ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบปี และกังวลว่า สัตว์น้ำอาจเริ่มทยอยขึ้นมาตายบนชายหาดจำนวนมากเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา และอาจส่งผลกระทบกับรายได้ของผู้ประกอบการริมหาด เพราะนักท่องเที่ยวไม่กล้าลงเล่นน้ำ
ขณะที่ สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา เก็บตัวอย่างน้ำไปวิเคราะห์ พบว่า เกิดจากเแพลงก์ตอนชนิดเรืองแสงสีเขียว และน้ำทะเลยังอยู่ในระดับที่ไม่รุนแรง แต่ระคายเคืองผิวหนังเล็กน้อย โดยคาดว่า ประมาณ 2 สัปดาห์ น้ำทะเลหาดบางแสนจะกลับสู่ภาวะปกติ พร้อมเตือนประชาชน ไม่ควรนำปลาตายริมหาดไปรับประทาน เพราะอาจปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย