ยุทธวิธีที่ผู้ก่อเหตุโจมตีฐานปฏิบัติการ ถูกวิเคราะห์จากฝ่ายมั่นคงว่าจงใจใช้บ้านเรือนของชาวบ้านและโรงพยาบาลเป็นที่มั่น และเป็นโล่กำบังการตอบโต้ของเจ้าหน้าที่
ระเบิดน้ำหนักกว่า 20 กิโลกรัม ที่บรรจุในถังดับเพลิงสีฟ้าถูกยิงทำลาย ภายหลังเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด จ.นราธิวาส ตรวจพบภายในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพบ้านตะเหลี่ยน ต.เกาะสะท้อน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ซึ่งอยู่ด้านหลังฐานปฏิบัติการกองร้อยป้องกันชายแดนที่ 2 หมวดป้องกันชายแดนที่ 4 ที่ถูกซุ่มโจมตีเมื่อคืนที่ผ่านมา
ผู้ก่อเหตุแบ่งกำลังเป็น 3 ชุด ในการเข้าปฎิบัติการ ชุดแรกใช้เสาไฟฟ้าเป็นที่กำบังเพื่อยิงเข้าใส่ฐาน ชุดที่สอง ใช้บ้านของชาวบ้านเป็นฐานที่มั่นกราดยิงเพื่อป้องกันการยิงสวนของเจ้าหน้าที่ และชุดสุดท้าย ผู้ก่อเหตุใช้ระเบิดขว้างวางระเบิด และยิงกระสุนปืนเอ็ม 79 เข้าใส่กำแพงของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ บ้านตะเหลี่ยงซึ่งอยู่ด้านหลัง โดยมุ่งหวังปืนกำแพงเข้าโจมตีฐานปฎิบัติการของเจ้าหน้าที่ ขณะที่แนวร่วมกลุ่มผู้สนับสนุนได้ลอบวางระเบิดเสาไฟฟ้า 3 ต้น และโปรยตะปูเรือใบในเส้นทางเชื่อมมายังฐานปฎิบัติการ เพื่อป้องกันการส่งกำลังหนุนของเจ้าหน้าที่ แต่โชคดีที่การยิงกระสุนปืนเอ็ม 79 พลาดเป้า และระเบิดที่วางไว้ทำงานไม่สมบูรณ์ ทำให้การเข้ายึดฐานครั้งนี้ไม่เกิดความสูญเสียขึ้น
แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะป้องกันความเสียหายไม่ให้เกิดขึ้นแก่ฐานปฏิบัติการที่ถูกซุ่มโจมตีเมื่อคืนที่ผ่านมาใน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ได้ แต่ว่าเหตุความรุนแรงที่ยังคงเกิดขึ้นในพื้นที่ ทำให้กองทัพภาคที่ 4 ต้องสั่งปรับแผนในการรับมือการก่อเหตุในรูปของการจำกัดเสรีของกลุ่มผู้ก่อเหตุ
ไม่เพียงแต่ความรุนแรงจะเกิดขึ้นที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส แต่ช่วงเที่ยงของวันนี้ (29 มิ.ย.2559) ได้เกิดระเบิดใน อ.ระแงะ โดยผู้ก่อเหตุระเบิดรถยนต์ของทหารชุดสันติสุขที่ 402 บริเวณทางเข้าโรงเรียนดารุลฮิกมะฮ์ ต.กาลิซา ทำให้ จ.ส.อ.ภพ พัดภู่ เสียชีวิต พ.ต.กฤตย มีบุญ ส.อ.อำนวย ผมงาม และ ส.อ.จิระวัฒน์ มูลคำ บาดเจ็บ ซึ่งเหตุความรุนแรงที่เกิดต่อเนื่องช่วง 4 วันแรกใน 10 วันสุดท้ายของเดือนถือศีลอด ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเพิ่มการดูแลอย่างเข้มงวดใน 6 วันที่เหลือ
"เน้นการควบคุมในพื้นที่ที่เป็นเขตเศรษฐกิจ เขตเมืองให้มีความเข้มงวดเพื่อป้องกันเหตุร้าย" พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าว
ด้านนายนิมุ มะกาเจ ผู้นำศาสนาใน จ.ยะลา เรียกร้องให้ทุกฝ่ายปฎิเสธการใช้ความรุนแรง หลังมีแนวโน้มว่า ช่วง 10 วันสุดท้ายของเดือดรอมฎอนปีนี้ อาจเกิดความรุนแรงมากกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งเกิดเหตุความไม่สงบถึง 69 ครั้ง
จากข้อมูลของศูนย์ปฎิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่าในช่วง 20 วันแรกของเดือนรอมฎอนปีนี้ เกิดเหตุรุนแรง 28ครั้ง เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ซึ่งเกิดเหตุ 25 ครั้ง ซึ่งสถิติเหตุรุนแรงที่เพิ่มขึ้นในเดือนถือศีลอดปีนี้ ทำให้ในช่วง 10 วันสุดท้าย หลายฝ่ายกังวลว่าจะเกิดเหตุมากขึ้นจึงต้องปรับแผนในการดูแลพื้นที่