น.ส.ณัฐนาถ อินทิแสน เป็นผู้เสียหายที่ถูกหลอกให้โอนเงินเข้าบัญชีของมิจฉาชีพ ซึ่งสวมรอยเป็นเพื่อนในเฟซบุ๊ก พูดคุยขอยืมเงินด้วยภาษาที่คุ้นเคยทำให้เธอไม่ได้เอะใจว่าผู้ที่เธอพูดคุยผ่านเฟซบุ๊ก เมสเซนเจอร์นั้นจะเป็นบุคคลอื่น
หลักฐานการโอนเงินเป็นหลักฐานเพียงชิ้นเดียวที่ น.ส.ณัฐนาถนำไปประกอบการแจ้งความ ซึ่งเธอพบว่า มีผู้เสียหายอีกหลายคนที่ถูกหลอกลักษณะเดียวกัน จากเจ้าของบัญชีเดียวกัน หลังเข้าแจ้งความเพื่อดำเนินคดี
"ส่วนหนึ่งที่ทำให้มิจฉาชีพเลียนแบบการสนทนาของเพื่อนเราได้น่าจะเป็นเพราะเราไม่เคยลบประวัติการสนทนาเลย เมื่อเขาแฮ็กเฟซบุ๊กของเพื่อนเข้ามาก็อาจจะเข้าไปอ่านข้อความที่สนทนากัน ทำให้เลียนแบบการพูดคุยได้" น.ส.ณัฐนาถกล่าว
คดีนี้ พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมเทคโนโลยี (ปอท.) ได้ส่งสำนวนไปยังสถานีตำรวจนครบาลบางเขน เจ้าของพื้นที่ที่เกิดเหตุ ซึ่งผู้เสียหายจะต้องประสานติดตามคดีในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว
ทำอย่างไรเมื่อถูกหลอกให้โอนเงิน
ผู้เสียหายจากการถูกหลอกให้โอนเงินสามารถไปแจ้งความได้ทั้งที่สถานีตำรวจในท้องที่เกิดเหตุหรือกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมเทคโนโลยี (ปอท.) แต่หากแจ้งความที่หน่วยงานไหนแล้ว อีกหน่วยงานหนึ่งจะไม่รับแจ้งความซ้ำ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติตามกฎหมาย เพื่อไม่ให้เป็นการทำงานซ้ำซ้อนกัน
อย่างไรก็ตาม ร.ต.ท.วีระพงษ์ แนวคำดี รองสารวัตรกองกำกับการ 2 บก.ปอท. แนะนำว่าหากแจ้งความที่ ปอท. ผู้เสียหายอาจจะต้องเดินทางมาขึ้นศาลที่กรุงเทพฯ ซึ่งอาจะไม่สะดวกสำหรับผู้เสียหายที่อยู่ต่างจังหวัด แต่ถ้าแจ้งความกับตำรวจท้องที่ก็จะสะดวกกว่า บางครั้งเราจึงโอนคดีไปให้ตำรวจท้องที่ดำเนินการ
สำหรับแนวทางการสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดนั้น ร.ต.ท.วีระพงษ์ยอมรับว่าติดตามตัวยาก เพราะส่วนมากบัญชีที่เปิดจะใช้ตัวย่อหรือตัวย่อภาษาอังกฤษ ทำให้ตำรวจต้องขอข้อมูลจากทางธนาคาร
"การดำเนินคดีจะช้าจะเร็วส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับว่าธนาคารส่งข้อมูลให้เร็วแค่ไหน เมื่อตำรวจได้ข้อมูลว่าบุคคลนี้เป็นเจ้าของบัญชีนี้ พนักงานสอบสวนก็จะออกหมายเรียกเจ้าของบัญชีมา ถ้าไม่มา 2 ครั้งก็ออกหมายจับ" ร.ต.ท.วีระพงษ์กล่าว
สำหรับหลักฐานที่ผู้เสียหายต้องนำไปแจ้งความ คือ สลิปโอนเงินเข้าบัญชี หรือหลักฐานที่แสดงถึงการโอนเงิน เพราะนี่คือเบาะแสสำคัญในการตามตัวมิจฉาชีพ รวมถึงข้อความการสนทนาในเฟสบุ๊คที่เราคุยกับมิจฉาชีพ
จากนั้นพนักงานสอบสวนจะส่งหมายเลขบัญชีให้ธนาคารตรวจสอบ ถึงการเปิดบัญชี ชื่อ นามสกุล รวมถึงหลักฐานการกดเงิน เมื่อได้ข้อมูลที่ธนาคารตรวจสอบแล้ว ก็จะมีการตรวจสอบทะเบียนราษฎร์ เพื่อรวบรวมพยานหลักฐาน และออกหมายเรียกเจ้าของบัญชีมาสอบปากคำ ก่อนจะดำเนินการตามกระบวนการตามกฎหมายต่อไปซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้ จะใช้เวลามากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการประสานงาน ของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ผู้เชี่ยวชาญสอนวิธีป้องกันเฟซบุ๊กถูกแฮ็ก
สำหรับวิธีการหลอกโอนเงินผ่านเฟซบุ๊กที่มิจฉาชีพใช้ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ ระบุว่า มิจฉาชีพจะสวมรอยเป็นผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก ด้วยการตั้งรหัสผ่านใหม่ จาก User Name ที่แสดงค้างอยู่ ซึ่งนาย
"ถ้าผู้ใช้เฟซบุ๊กตั้งพาสเวิร์ดที่จำง่ายๆ ไว้ มิจฉาชีพจะเข้าไปกด "ลืมพาสเวิร์ด" เพื่อเดาหรือทายโดยใช้เบอร์โทรศัพท์มือถือ หรือวันเกิด คือใช้วิธีแฮ็กกันแบบบ้านๆ เลย หรือให้ส่งพาสเวิร์ดใหม่มาที่อีเมลของเหยื่อซึ่งเขาได้แฮ็กไว้เรียบร้อยแล้ว พอได้ลิงค์มาก็เข้าไป reset พาสเวิร์ดเอง" ปริญญา หอมเอนก ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นึคงปลอดภัยสารสนเทศ ให้ข้อมูล
นายปริญญาแนะนำวิธีตั้งค่าเฟซบุ๊กแบบง่ายๆ ที่ผู้ใช้งานทุกคนสามารถทำได้เพื่อยกระดับความปลอดภัยไว้ดังนี้
-ล็อกอินเข้าเฟซบุ๊กของตัวเอง ไปที่ "การตั้งค่า"
-ที่แถบซ้ายมือ เลือก "ความปลอดภัย" แล้วเลือก "การอนุมัติการเข้าสู่ระบบ"
-ติ๊กเครื่องหมายถูก ที่ "ต้องใช้รหัสรักษาความปลอดภัยในการเข้าถึงบัญชีผู้ใช้ของฉันจากเบรว์เซอร์ที่ไม่รู้จัก" ซึ่งเราจะได้รับรหัสความปลอดภัยสำหรับป้อนเข้าไปก่อนเข้าเฟซบุ๊ก
หากใช้งานผ่านอุปกรณ์อื่นๆ ที่ไม่เคยใช้มาก่อน การตั้งค่าเช่นนี้ ผู้ใช้จะต้องป้อนรหัสใหม่ทุกครั้ง ซึ่งรหัสจะส่งมายังหมายเลขโทรศัพท์หรืออีเมล์ที่ผู้ใช้ตั้งค่าไว้ ซึ่งวิธีการเหล่านี้จะช่วยป้องกันไม่ให้มีผู้ลักลอบเข้ามาใช้งานเฟซบุ๊กของเราได้ในระดับหนึ่ง